fbpx

ลำดับชั้นของสารก่อมะเร็ง หรือ Class of Carcinogenic

การแบ่งกลุ่มของสารก่อมะเร็งนั้น มีหลากหลายองค์กรที่ทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ครับ ทีนี้เวลาเราดูข่าวเสพข่าวหรือฟังใครมา อาจต้องดูที่มาที่ไปก่อนว่า เป็นข้อมูลจากองค์กรไหน ผมมีตัวอย่างคร่าวๆครับ เอามาแชร์กัน ว่าแต่ละองค์กรเขาแบ่งดิวิชั่นกันยังไง ใครดูฟุตบอลน่าจะนึกภาพออกครับ

IARC หรือ International Agency for Research on Cancer 

เป็นฐานข้อมูลที่นิยมที่สุด เพราะจัดทำโดยองค์กรหน่วยย่อยหนึ่งของ World Health Organization (WHO) มีสำนักงานอยู่ที่เมืองลียง (Lyon) ประเทศฝรั่งเศส ทำหน้าที่หลักในการพัฒนาและสนับสนุนการวิจัยเกี่ยวกับโรคมะเร็ง องค์กร IARC เป็นผู้ประเมินและจัดกลุ่มสิ่งก่อมะเร็งที่ได้รับความเชื่อถือสูงที่สุดในโลก ได้มีการจำแนกประเภทของ สารก่อมะเร็งออกเป็นกลุ่มใหญ่ๆอยู่ 4 กลุ่ม อัพเดทตามเอกสาร IARC Monographs ซึ่ง ณ วันที่ 5 กรกฎาคม 2566 อัพเดทมาถึงฉบับที่ 133 แล้ว โดยในวันที่ 14 กรกฎาคม 2566 โลกของชาวคีโต กำลังติดตามผลสรุปของ แอสปาแตม ว่าจะมีการอัพเดทอยู่ในกลุ่มไหน ทาง IARC แบ่งกลุ่มสารก่อมะเร็งเป็นแบบนี้ครับ

Classคำอธิบาย
กลุ่ม 1 สารก่อมะเร็งที่พิสูจน์แล้วหรือเป็นสารก่อมะเร็งอย่างแน่นอน
กลุ่ม 2Aสารที่มีข้อบ่งชี้ว่าน่าจะเป็น (Probably) สารก่อมะเร็งในมนุษย์ ยังไม่มีหลักฐานอย่างเป็นทางการของการก่อมะเร็งในมนุษย์ มีแต่ข้อบ่งชี้ถึงความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งในมนุษย์ + มีหลักฐานที่เพียงพอกับการเกิดมะเร็งในสัตว์ทดลอง
กลุ่ม 2Bสารที่มีข้อบ่งชี้ว่าเป็นไปได้ว่าจะเป็น (Possibly) สารก่อมะเร็งในมนุษย์ ยังมีหลักฐานที่จำกัดอยู่มากในมนุษย์ และ ยังมีหลักฐานไม่เพียงพอกับสัตว์
กลุ่ม 3ไม่สามารถจัดกลุ่มได้ว่าเป็น สารก่อมะเร็งในมนุษย์หรือไม่
กลุ่ม 4น่าจะไม่เป็น (Probably) สารก่อมะเร็งในมนุษย์

ACGIH หรือ The American Conference of Governmental Industrial Hygienists

ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1938 เป็นกลุ่มนักสุขศาสตร์อุตสาหกรรมภาครัฐแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นองค์กรด้านวิชาการของนักสุขศาสตร์อุตสาหกรรม ที่มีความน่าเชื่อถือสูงของประเทศสหรัฐอเมริกา มีความรู้ในด้านการตรวจวัดระดับสิ่งคุกคามและระดับสารเคมีในสถานที่ทำงานโดยเฉพาะ

ACGIH เป็นผู้กำหนดค่ามาตรฐานระดับสารเคมีในบรรยากาศการทำงาน โรงงานอุตสาหกรรม (เรียกว่าค่า Threshold Limit Values หรือ TLVs) และในร่างกายคนทำงาน (เรียกว่าค่า Biological Exposure Indices หรือ BEIs) ซึ่งเป็นค่ามาตรฐานที่ได้รับความเชื่อถือสูงจากทั่วโลก โดยจะจัดทำเป็นหนังสือออกปีละครั้งในชื่อหนังสือ TLVs and BEIs

Classคำอธิบาย
GROUP A1ยืนยันว่าเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์
GROUP A2สงสัยว่าเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์
GROUP A3ยืนยันว่าเป็นสารก่อมะเร็งในสัตว์ แต่ยังไม่ทราบความเกี่ยวพันธ์กับมนุษย์
GROUP A4ไม่สามารถจัดกลุ่มได้ว่าเป็น สารก่อมะเร็งในมนุษย์หรือไม่
GROUP A5น่าจะไม่เป็น (Probably) สารก่อมะเร็งในมนุษย์

CLP หรือ Regulation on Classification, Labeling and Packaging of Chemical substance and mixtures ( European Union)

เป็นกฎระเบียบเกี่ยวกับการจำแนก ติดฉลาก และบรรจุภัณฑ์ เพื่อวัตถุประสงค์ในการเพิ่มเติมข้อความอันตรายและข้อควรระวัง โดย จำแนกสารแบบ harmonized classification ใหม่สําหรับสารที่ถูกจำแนกว่าเป็นสารก่อมะเร็ง (carcinogenic) สารก่อการกลายพันธุ์ (mutagenic) หรือ สารที่เป็นพิษต่อระบบสืบพันธุ์ (toxic to reproduction) โดยสารก่อมะเร็งจะมีการแบ่งตามตารางนี้ครับ

Classคำอธิบาย
Category 1A เป็นไปได้ว่าเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ เพราะจัดหมวดโดยข้อมูลที่ base on มนุษย์
Category 1Bมีโอกาสเป็นไปได้ที่จะเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ เพราะจัดหมวดโดยข้อมูลที่ base on สัตว์เป็นหลัก
Category 2ต้องสงสัยว่าจะเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ โดยใช้ข้อมูล base on มนุษย์และสัตว์ แต่ยังไม่น่าเชื่อถือเพียงพอ ที่จะไปอยู่ในกลุ่ม 1A หรือ 1B

อย่างไรก็ตาม เรายังสามารถเห็นตัวอย่างบางชนิดที่จัดกลุ่มแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ระหว่างแต่ละองค์กร เช่น Formaldehyde ถ้าเป็นของ IARC จะอยู่ กลุ่ม1 / ACGIH จะอยู่ Group A2 / แต่ถ้า CLP จะอยู่กลุ่ม cat2 ซึ่งเราต้องดูรายละเอียดของแต่ละองค์กรไป

รวมถึงทั้งหมดนี้ แทบไม่ได้พูดถึง “ปริมาณ” หรือ โดส ที่ร่างกายได้รับสักเท่าไร ทำให้เราต้องพึงตระหนักว่า บางครั้งการอ่านเพียงพาดหัวข่าว อาจจะทำให้เราตกใจโดยใช่เหตุครับ เราต้องพิจารณาถึงการใช้ชีวิตจริงๆด้วย ว่าเราได้รับสิ่งนี้ในปริมาณเท่าไร และทำให้มีโอกาสเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน

ดังนั้น การเสพข่าวอย่างมีความรู้ มีความยั้งคิด จึงดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นข่าวอะไรก็ตาม

โต้งเอง บุคคลที่พยายามเล่าเรื่องที่คนไม่รู้เรื่อง ให้รู้เรื่อง แม้บางทีคนที่อยากให้รู้เรื่อง จะอ่าน/ฟังแล้วไม่รู้เรื่องก็ตาม