วิกฤต โอปิออยด์ เล่ห์แห่งวงการ อุตสาหกรรมยา
ช่วงวันหยุดอยากแนะนำซีรีย์ที่สร้างจากเรื่องจริงอยู๋ 2ค่ายครับ คือ Painkiller และ The Pharmacist ของค่าย Netflix และ Dopesick ของค่าย Disney+ ในบ้านเรา (Hulu สำหรับต่างประเทศ) เอาจริงๆยังมีอีกเยอะเลยครับ ที่นำมาสร้างจากวิกฤตนี้ เพราะมันเสียหายมหาศาลมากรวมถึงชีวิตผู้คนอีกมากมาย
เป็นเรื่องของเล่ห์เหลี่ยมที่วงการยา ซึ่งขับเคลื่อนด้วยทุนนิยมใช้จนเกิดวิกฤตขึ้นในยุค 90 ต่อเนื่องข้าม y2k กันมาเลยทีเดียว ใครที่ทันยุคนั้นน่าจะพอจำกันได้เพราะเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก นั่นคือ วิกฤต โอปิออยด์ ครับ
เรื่องเริมต้นที่ อาเทอร์ แซกเลอร์ (Arthur Sackler) ผู้สร้างอาณาจักรผลิตยา ขนาดหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐบนการบิดเบือนข้อมูลเพื่อหาผลประโยชน์ทางการตลาด เขาเป็นจิตแพทย์ที่มีความสามารถ แต่ทว่าสิ่งที่นำรายได้มหาศาลมาสู่ตัวเขากลับเป็นความสามารถทางการตลาดเสียที่หาตัวจับได้ยากคนหนึ่ง บริษัท Purdue Pharma ประกอบไปด้วย พี่น้อง3คน จากตระกูล แซกเลอร์ (อาเทอร์, มอร์ทิเมอร์ และ เรย์มอนด์ )
ในช่วงปี 1980 เขาได้ผลิตยาแก้ปวดชื่อ MS Contin ใช้สำหรับบรรเทาความเจ็บปวดให้กับคนไข้มะเร็งขั้นสุดท้าย มันเป็นมอร์ฟีนแบบเม็ดที่สามารถออกฤทธิ์ได้นาน ทำให้ผู้ป่วยสามารถใช้เวลาช่วงสุดท้ายของชีวิตกับที่บ้านอย่างสงบ แทนที่จะต้องให้มอร์ฟีนแบบที่เป็นของเหลวที่โรงพยาบาล อาเทอร์ก็ได้ใช้กลยุทธ์ทางการตลาดโดย เขาคิดค้นแคมเปญที่ดึงดูดความสนใจของแพทย์โดยตรง และเกณฑ์แพทย์ที่มีชื่อเสียงให้รับรองผลิตภัณฑ์ของ Purdue นี้
และด้วยความที่ริชาร์ด เป็นนักสะสมงานศิลปะชั้นแนวหน้าคนหนึ่ง เขายังทำสิ่งที่สมัยนี้เรียกว่า CSR ด้วยการบริจาค Collection ส่วนตัวของเขา จำนวนมากให้กับพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ทั่วโลกอีกด้วย
ตระกูลแซกเลอร์ สร้างรายได้มหาศาลจากยาตัวนี้ โดยที่บางข้อมูลบอกว่า เขาจำหน่ายยาตัวนี้ก่อนจะได้การรับรองจากทางการด้วยซ้ำ ในเวลาต่อมา ริชาร์ด แซกเลอร์ (Richard Sackler) ลูกของ เรย์มอนด์ แซกเลอร์ (Raymond Sackler) ก็เข้ามารับช่วงต่อกิจการ Purdue Pharma
แล้วในช่วงปี 90 ทาง Purdue Pharma ก็ได้ผลิตยาชนิดหนึ่งชื่อว่า OxyContin สู่ท้องตลาด
OxyContin เป็นยาแก้ปวด ที่มีส่วนประกอบสำคัญคือสารโอปิออยด์ ซึ่งเป็นสารที่ออกฤทธิ์ต่อ opioid receptor ในสมองโดยตรง เมื่อสมองได้รับโอปิออยด์ก็จะเคลิบเคลิ้ม ทำให้สามารถลดอาการปวดได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งในการแพทย์ก็จะมีการใช้โอปิออย์อยู่บ้างแล้ว เช่นมอร์ฟีน
แต่ปัญหามันอยู่ที่ Purdue Pharma เลือกที่จะบิดเบือนความจริง แล้วนำเสนอ OxyContin ว่าเป็นยาแก้ปวดที่มีโอกาสเสพติดน้อยเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ ปลอดภัยสามารถใช้ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานได้ โดยมีผลข้างเคียงเพียงเล็กน้อย เซลส์ขายยาทุกคนบอกแก่แพทย์และเภสัชกรว่า ถ้าปวดมากก็ให้ใช้ในปริมาณมาก หรือถ้าหยุดใช้แล้วไม่ดีขึ้นก็ให้ใช้ต่อ
จน OxyContin เริ่มถูกจ่ายให้แม้แต่กับคนไข้ที่มีอาการปวดนิดหน่อย (ปวดหัว ปวดฟัน ปวดตัว ให้หมด) นั่นกลายเป็นจุดเริ่มต้นการระบาดของวิกฤตเสพติดยาแก้ปวดโอปิออยด์ตั้งแต่ช่วงกลางของยุค 90 เป็นต้นมาและเกิดผลข้างเคียงตามมาอย่างรุนแรง มีผู้เสียชีวิตถึงหลักหมื่นคนในอเมริกา
จนกระทั่ง Patrick Radden Keefe นักข่าวจาก The New Yorker เขียนบทความ https://www.newyorker.com/magazine/2017/10/30/the-family-that-built-an-empire-of-pain
แฉว่า Purdue Pharma ทราบอยู่แล้วว่าตัวยา OxyContin มีส่วนสำคัญในการเกิดอาการเสพติดอย่างรุนแรงนี้ (ไปอุดหนุนหนังสือคุณ Patrick ได้นะครับ ชื่อ Empire of Pain) รวมถึง Nancy Goldin ช่างภาพหญิงชาวอเมริกา ซึ่งได้รับผลกระทบจาก OxyContin จากการเสียชีวิตอย่างน่าสลดใจของพี่สาวของเธอ ทำให้เธอก่อตั้งสมาคม P.A.I.N. (Prescription Addiction Intervention Now) มีเป้าหมายเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม ให้แก่ผู้ที่เสียชีวิตจากการเสพติดยาโอปิออยด์ ซึ่งถูกใช้ทางการแพทย์ในแถบยุโรปและอเมริกา
แต่ ริชาร์ด จาก Purdue Pharma ได้ปฎิเสธ ไม่ขอแสดงความรับผิดชอบใดๆและตอบโต้ด้วยวรรคทองที่ว่า “ยาไม่ใช่ปัญหา ปัญหาคือเพราะคนที่ใช้ยาผิดวิธีต่างหาก”
ตัวยานั้นนอกจากจะเคลมว่า มีโอกาสเสพติดน้อยกว่าโอปิออยด์อื่นแล้ว ยังบอกว่าโครงสร้างของยาเป็นแบบออกฤทธิ์ช้า ทำให้คนที่ทานไม่รู้สึกเคลิ้มทันที แม้ช่วงแรกที่ทาน จะแก้ปวดได้ดี แต่นานไปจะออกฤทธิ์สั้นลง ทำให้ต้องทานยาเพิ่มขึ้น Purdue Pharma ได้ให้ข้อมูลกับแพทย์ว่ามันเป็นเรื่องปกติและสามารถเพิ่มโดสยาเพื่อระงับความปวดได้เพราะมีโอกาสเสพติดยาก
แพทย์บางคนแม้จะที่เริ่มรู้สึกถึงความรุนแรงบางอย่างของ OxyContin แต่ก็ยังไม่หยุดจ่ายยา คือมีทั้งที่เชื่อคำโกหกและมีทั้งที่ได้ผลประโยชน์) ไม่เคยมีใครแจ้งหรือควบคุมการจ่ายยาของแพทย์เหล่านี้เลย และแพทย์เองก็จะได้รับการดูแลอย่างดี มีจัดงานเลี้ยง เพื่อให้เซลส์ยาสามารถเข้าถึงตัวแพทย์และขายยาตัวนี้ได้มากขึ้น นอกจากจะได้คอมฯสูงแล้ว มีการจัดอันดับยอดขายเพื่อชิงรางวัลใหญ่ เป็นทริปเที่ยวฮาวายอีกด้วย
นอกจากนี้ยังมีการสร้างความเชื่อมั่นผ่านสมาชิกสภานิติบัญญัติให้ส่งเสริมการใช้ OxyContin รวมถึงให้ทุนสนับสนุนองค์กรวิชาชีพและผู้ป่วย ส่งตัวแทนไปพบแพทย์เป็นรายบุคคลเพื่อเน้นย้ำความสำคัญของการสั่ง OxyContin ให้แก่คนไข้ และเซลล์ยาจะมีประโยคเด็ดเพื่อโต้แย้งแพทย์หากถูกถามถึงการติดยาว่า ‘The delivery system is believed to reduce the abuse liability of the drug,’
หนังสือของคุณ Patrick ได้แฉไว้ว่า Dr. Curtis Wright เจ้าหน้าที่ FDA ที่ดูแลเรื่องการอนุมัติ OxyContin นั้นใช้เวลาพิจารณาเพียง 11 เดือนเท่านั้น หลังจากยาถูกปล่อยสู่ตลาด ก็ลาออกจาก FDA แล้วหลังจากนั้นราวๆ 2 ปีต่อมา พวกเขาก็มาทำงานให้กับ Purdue Pharma โดยมีรายได้อยู่ที่ 400,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี
การต่อสู้และต่อต้านเริ่มเห็นผลบ้าง ปี 2007 Purdue Pharma ยอมรับว่าโกหกเกี่ยวกับศักยภาพในการเสพติดของ OxyContin ต่อศาลรัฐเวอร์จิเนีย โดนปรับ 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากนั้นก็โดนถล่มฟ้องร้องมาเรื่อยๆ และหลักฐานก็หนาแน่นขึ้นเรื่อยๆ
6 รัฐจากสหรัฐอเมริกา ฟลอริดา เนวาดา นอร์ทแคโรไลนา นอร์ทดาโคตา เทนเนสซี และเท็กซัส ได้ยื่นฟ้องต่อข้อหาปฏิบัติทางการตลาดที่หลอกลวง โดยเพิ่มเป็น 16 คดีจากที่เคยถูกฟ้องร้องโดยรัฐอื่นๆ โดยสาะสำคัญของการฟ้องร้องคือ Purdue Pharma ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายพันคนจากอาการเสพยาเกินขนาด
หลังจากนั้นไม่นานจากการตอบสนองของการฟ้องร้องหลายคดีต่อ Purdue Pharma เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ยา OxyContin ซึ่ง เอพีรายงานว่า ตระกูล Sackler มีมูลค่าทรัพย์สินทั้งหมดราว 1หมื่น3พันล้านดอลลาร์ในปี 2016 ส่งผลทำให้เป็นตระกูลมีความร่ำรวยเป็นอันดับที่ 19 ในสหรัฐฯ อ้างอิงจากนิตยสารฟ็อบส์
NBC NEWS รายงานว่า ทนายความจากเกือบ 2,300 เมืองและเขตเคาน์ตีมากกว่า 50 รัฐที่ได้ยื่นฟ้อง Purdue Pharma ในขณะที่ Purdue Pharma ต้องจ่ายไปแล้วมากกว่า 4 พันล้านดอลลาร์
และได้ถูกตัดสิน ฟ้องเข้าสู่กระบวนการล้มละลายในที่สุด
ซึ่งข้อตกลงประณีประนอมมีใจความว่าตระกูลแซ็คเลอร์จะต้องให้หลักประกันมูลค่า 3 พันล้านดอลลาร์และอีก 1.5 พันล้านดอลลาร์ ให้กับแนวทางการเริ่มต้นแผนการฟื้นฟู และปรับสร้างบริษัทใหม่
แต่แล้วสำนักงานอัยการสูงสุดประจำรัฐนิวยอร์กแถลงว่าทางสำนักงานค้นพบการโอนเงินผ่านบัญชีธนาคารสวิสและบัญชีอื่นๆที่แอบปกปิดในการโอนเงินสดมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ให้เข้าบัญชีส่วนตัวของตระกูล Sackler จากทรัสต์ของตระกูลที่ไม่เป็นที่รู้จักก่อนหน้าด้วยการใช้บัญชีสวิส
หนังสือพิมพ์ The New York Times (3 march 23)
บอกว่าตระกูล Sackler จะจ่ายเงินมากถึง 6 พันล้านดอลลาร์ เพื่อช่วยชุมชนจัดการกับความเสียหายจาก OxyContin ตระกูล Sackler จะได้รับการยุติการเรียกร้องทางแพ่งทั้งหมดในปัจจุบันและในอนาคต เกี่ยวกับเรื่อง OxyContin นี้ โดยการคุ้มครองความรับผิดของตระกูล Sackler จะไม่ครอบคลุมถึงการดำเนินคดีทางอาญา
มีเรื่องเล่าอีกว่า ในปี 2018 (https://www.vox.com/science-and-health/2018/9/7/17831710/richard-sackler-opioid-epidemic-buprenorphine)
Richard Sackler ได้จดสิทธิบัตรยา buprenorphine ซึ่งมีสามารถใช้รักษาอาการติดยา OxyContin หรือแม้แต่ยาในกลุ่มโอปิออยด์ เท่ากับว่าเขามีโอกาสจะได้เงินอีกก้อนใหญ่ ในฐานะผู้จำหน่ายยาถอนพิษนั้นด้วยตนเอง และจะกลายเป็นมหาเศรษฐีอีกครั้ง แต่เรื่องก็เงียบหายไป
เรื่องราวของ ตระกูล Sackler Purdue Pharma และ OxyContin เป็นหนึ่งตัวอย่างของอุตสาหกรรมยาที่ใช้ผลประโยชน์ ใช้ช่องว่างของการรักษา ใช้การตลาดประกอบกับการเข้าหาแพทย์ ในจักวาลคู่ขนานกัน ก็มีเรื่องแบบนี้เสมอๆ ไม่ว่าจะการเพิ่มโดส ปรับมาตรฐานตัวเลขค่าเลือดต่างๆ หรือแม้แต่ ปล่อยโรคระบาด เรื่องเหล่านี้จะทราบได้อย่างไรว่ามีจริงหรือไม่ ก็ต้องรอให้ถึงวันที่มีคนอย่างคุณ Patrick หรือ คุณ Nancy ออกมาเปิดเผยพร้อมหลักฐานที่หนักแน่นเพียงพอ เท่านั้นหรือ