fbpx

ผู้อุทิศชีวิตให้โภชนาการ แต่โดนโลกบูลลีเพราะอเมริกา?

โลกรับรู้ว่า คุณ Anna Britt Agnsäter (ขอเรียกสั้นๆว่า ป้าแอน) เป็นผู้ที่นำเสนอ ปิรามิดอาหาร คนแรกของโลก และเป็นแบบจำลองที่ทาง USDA นำไปพัฒนาปรับใช้แล้วนำมาเป็น แบบที่ใช้สื่อสารกับคนทั้งโลก ในเรื่องของการกำหนด ประเภทอาหารที่ควรกิน ในช่วงปี 1992-2005 ซึ่งในบทความที่แล้วผมได้เขียนว่า ปิรามิดเวอร์ชั่นที่ป้าแอนคิด กับ ที่อเมริกาเอาไปปรับใช้เป็นคนละตัวกัน แต่โลกทั้งโลกก็บูลลีป้าเอนว่า เป็นสาเหตุของการทำลายสุขภาพคนทั้งโลก ทั้งๆที่ไม่ได้เป็นนักวิทยาศาสตร์ ผมก็เป็นคนนึงที่เคยคิดแบบนั้นครับ และเคยอุทานในใจเบาๆว่า แกเป็นใครนะทำไมถึงนำเสนออะไรแบบนี้มาทำร้ายคนทั้งโลก???

นานวันเข้า ความคิดอีกฝั่งของผมก็บอกมาว่า ประโยคข้างบนเป็นคำบ่นหรือคำถาม

นั่นสิ!!!!! ถ้ามันเป็นคำถาม มันจะทำให้เราได้รู้จักตัวตนป้าแอนและเข้าใจว่าแกได้ทำอะไรลงไปนะ มันควรเป็นคำถามมากกว่าคำบ่น นั่นเลยเป็นเหตุผลที่ทำให้ผมเริ่มขุดเรื่องป้าแอน Anna Britt Agnsäter มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ พร้อมที่จะอ่านกันแล้วใช่ไหมครับ

Anna Britt Agnsäter เกิดเมื่อปี 1915 ที่เมือง Älmhult ประเทศสวีเดน (นอกเรื่องนิดนึง เมืองนี้คือเมืองที่ให้กำเนิด IKEA ที่เรารู้จักกันดีเรื่องเฟอร์นิเจอร์ ที่นี่มีพิพิธภัณฑ์อิเกีย ซึ่งปรับปรุงมาจากโกดังแห่งแรกของเขาด้วยครับ) เรียกได้ว่า เกิดในช่วงสงครามโลกครั้งที่1 พอดีเลยครับ

ป้าแอน จบการศึกษาที่โรงเรียนสตรี ในเมือง Ystad ก่อนจะเข้ารับการฝึกสอนเพื่อเป็นครูสอนวิทยาศาสตร์ในครัวเรือน (rural domestic science teacher) ในช่วงปี 1930 ที่โรงเรียนวิทยาศาสตร์ในครัวเรือนในชนบทชื่อว่า Rimforsa ก่อนจะได้รับวุฒิการศึกษาการสอนวิทยาศาสตร์ในครัวเรือนในชนบทในปี 1939 จาก Kvinnliga medborgarskola (civic women’s school) จนกระทั่ง ปี 1943 ถึง 1945 เธอได้เดินทางไปทั่ว Norrland (พื้นที่ภาคเหนือของสวีเดน) โดยได้รับเงินสนับสนุนจาก Kooperativa Förbund (เรียกสั้นๆว่า KF หรือ สมาคมสหกรณ์ ก่อตั้งขึ้นในปี 1899 โดยสหกรณ์ผู้บริโภคในท้องถิ่น 41 แห่ง เป็นผู้นำด้านการค้าปลีกในสวีเดนโดยพัฒนารูปแบบร้านค้าใหม่และใหญ่ขึ้น และเป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจหลักในสแกนดิเนเวีย ในสมัยนี้คำว่าสหกรณ์อาจจะดูเชยๆ แต่ต้องเข้าใจครับว่ายุคนั้นคือความก้าวหน้ามากๆ และต้องมีความรู้รอบด้านทั้งวิทยาศาสตร์ เศรษฐกิจ การเมือง) เพื่อบรรยายให้คนหนุ่มสาวและแม่บ้านฟังเกี่ยวกับวิธีรับมือกับเสบียงที่มีจำกัดในช่วงสงครามที่ตึงเครียด เนื่องจากอยู่ในภาวะสงครามโลกครั้งที่2

ในปี 1946 ป้าแอนได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าของSwedish Cooperative Union หรือ Kooperativa Förbundets (KF) Provkök (experimental kitchen หรือ ภาษาสมัยนี้น่าจะใกล้เคียงกับ kitchen lab นั่นเอง) ซึ่งเป็นองค์กรที่มีอิทธิพลทางด้านอาหารเป็นอย่างมากในสวีเดน มีบทบาทสำคัญในเศรษฐกิจและสังคมสวีเดน โดยสร้างโอกาสให้แก่สมาชิกและส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนในชุมชนต่าง ๆ ทั่วประเทศ

ป้าแอนทำงานที่นี่นานจนถึงช่วงปี 1980 ขนาดของ KF ก็ใหญ่โตขึ้นมากมาย จนขยายอำนาจและขอบเขตการทำงานไปถึงการเป็นคณะกรรมการทดสอบรสชาติซึ่งทดสอบอาหารกึ่งสำเร็จรูปและอาหารสำเร็จรูปใหม่ด้วย ในจุดนี้ ป้าแอน เล็งเห็นความสำคัญและความรับผิดชอบของผู้ผลิต/ผู้ค้าอาหาร ควรจะขยายความรับผิดชอบครอบคลุมไปจนถึงโต๊ะอาหาร (ในที่นี่น่าจะหมายถึงลูกค้า) นั่นคือเหตุผลที่การติดฉลากอาหารจึงมีความสำคัญมาก ป้าแอนได้มุ่งเน้นให้ความรู้กับผู้บริโภคว่า ‘Weigh up the price against the quality’ หรือ ให้ชั่งน้ำหนักพิจารณาให้ดี ระหว่างราคากับคุณภาพ ตลอดระยะเวลาการทำงาน Anna-Britt Agnsäter ได้รณรงค์เพื่อให้มีการแสดงข้อมูล ให้ผู้บริโภครับทราบ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและได้ให้คำแนะนำด้านโภชนาการ เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น ในรูปแบบฉลากโภชนาการ

ในปี 1946 เช่นกันป้าแอนได้มีแผนในการทำ มีแผนที่จะผลิตหนังสือสอนทำอาหารสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉิน เพราะบทเรียนในภาวะสงครามโลก ที่ป้าแอนผ่านมาตลอด แต่ไม่สามารถพิมพ์ออกมาได้เนื่องจากกระดาษขาดแคลนเนื่องจากอยู่ในภาวะหลังสงคราม

ในปี 1948-1949 ป้าแอนเดินทางไปอเมริกา เพื่อศึกษาเทคนิคการทำอาหารใหม่ๆ การผลิตภัณฑ์อาหารแช่แข็ง รวมถึงอาหารผงแห้งต่างๆ (dry powder) รวมไปถึงวิทยาศาสตร์การอาหาร (food science) ที่มหาวิทยาลัย Iowa State University การเดินทางมาอเมริกาครั้งนี้เปลี่ยนโลกของป้าแอนเป็นอย่างมาก ในตอนที่ป้าทำงานกับ KF เธอมักจะร่วมงานกับ Hemmens Forskningsinstitut (สถาบันวิจัยในประเทศ) เพื่อจัดหาเครื่องมือในครัวที่ยกระดับมาตรฐานการทำอาหารที่ดียิ่งขึ้น รวมถึงอุปกรณ์การครัว ภาชนะต่างๆที่เข้าเตาอบได้ และจากประสบการณ์ที่อเมริกานี้

ป้าแอนได้จับมือกับ โรงงานเครื่องเคลือบและพลาสติก Gustavsberg และ HFI Anna-Britt Agnsäter พัฒนาช้อนตวง ชุด4ชิ้น ที่วางซ้อนกันได้ ซึ่งเป็นการปฎิวัติวงการอาหารครั้งสำคัญของสวีเดน เรียกว่า “ชุดช้อนตวงมาตรฐาน” ซึ่งจะมีการระบุขนาดที่ชัดเจน 4 ชิ้น ประกอบไปด้วย

ชื่อเรียกหน่วยวัดขนาดมาตรฐานทั่วไปขนาดที่บางชุดอาจมีขนาดเพิ่มเติม
1.ช้อนชา (Teaspoon, tsp)1 ช้อนชา (5 มิลลิลิตร)1/4 ช้อนชา (1.25 มิลลิลิตร) และ 1/2 ช้อนชา (2.5 มิลลิลิตร)
2.ช้อนโต๊ะ (Tablespoon, tbsp)1 ช้อนโต๊ะ (15 มิลลิลิตร)1/2 ช้อนโต๊ะ (7.5 มิลลิลิตร)
3.ช้อนขนาดเล็ก (Pinch, Dash, Smidgen)ขนาดเล็กกว่าช้อนชา ซึ่งมักใช้สำหรับวัตถุดิบที่ใช้ในปริมาณน้อยมาก เช่น เครื่องเทศหรือเกลือไม่มีเพิ่มเติม
4.ช้อนตวงเครื่องเทศ (Kryddmått)1 มิลลิลิตร (ประมาณ 1/5 ช้อนชา) ใช้สำหรับตวงเครื่องเทศหรือวัตถุดิบที่ต้องการความแม่นยำสูงในปริมาณน้อยไม่มีเพิ่มเติม

ซึ่งทำให้ผู้ใช้สามารถวัดปริมาณวัตถุดิบได้อย่างถูกต้องตามที่สูตรอาหารกำหนด กลายเป็นเครื่องมือที่จำเป็นในครัวเรือนและการประกอบอาหารในเชิงพาณิชย์

แม้การพัฒนา “ชุดช้อนตวงมาตรฐาน” นี้จะเริ่มต้นในสวีเดน แต่นวัตกรรมนี้มีผลกระทบที่กว้างขวางและแพร่หลายไปยังครัวเรือนและอุตสาหกรรมอาหารทั่วโลกจนถึงปัจจุบัน

ในชุดช้อนตวงมาตรฐาน original 4 คุณอาจสังเกตคำนึงที่ไม่ค่อยคุ้นสักเท่าไรคือหน่วย kryddmått

นอกจากชุดช้อนตวงมาตรฐานแล้ว ป้าแอนยังคิดค้นสิ่งต่างๆอีกมากมาย ให้กับวงการอาหารสวีเดน รวมถึงหน่วยวัดใหม่ที่เรียกว่า kryddmått นี้ด้วยครับ ซึ่งมันเป็นหน่วยวัดขนาดเล็กที่ใช้ในการตวงเครื่องเทศและวัตถุดิบปริมาณน้อย โดยหน่วยวัดนี้มีขนาด 1 มิลลิลิตร (ml)ซึ่งถูกกำหนดมาเป็นหน่วยที่เล็กที่สุดซึ่งทำให้มีการจดบันทึกสูตรได้แม่นยำยิ่งขึ้น นั่นเพราะว่า การตวงเครื่องเทศ หรือ เกลือ นั้นหากรสชาติที่เข้มข้น หรือมีการใช้มากเกินไปหรือไม่พออาจทำให้รสชาติของอาหารเปลี่ยนไป การใช้ kryddmått ช่วยให้การวัดปริมาณเครื่องเทศที่ใช้ในสูตรอาหารเป็นไปอย่างแม่นยำและสม่ำเสมอ

ถือว่าเป็นอีกผลงานคุโณปการที่ป้าแอน ฝากไว้ให้กับโลกนี้ มันมีส่วนสำคัญในการทำให้งานครัวเรือนง่ายขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้นผ่านการพัฒนาหน่วยวัดที่แม่นยำและสะดวกในการใช้งาน นวัตกรรมนี้ช่วยให้การทำอาหารเป็นไปอย่างราบรื่นและมีคุณภาพสูงยิ่งขึ้น

ในปี 1951 ป้าแอนได้บูรณะหนังสือการทำอาหารประจำสวีเดนใหม่ทั้งหมด (Vår kokbok) จุดประสงค์ของตำราอาหาร Vår คือการนำเสนอตำราอาหารราคาต้นทุนวัตถุดิบไม่แพง ที่ให้ความรู้เรื่องสารอาหารและใช้งานง่าย นอกจากนี้ยังเป็นการวางวัตถุดิบให้ได้รับสารอาหารที่เพียงพออีกด้วย เพราะในยุคนั้นสวีเดนมีข้อจำกัดในเรื่องอาหารเป็นอย่างมาก

เนื้อหาสูตรอาหารที่ใช้ในหนังสือเล่มนี้กลายเป็นบรรทัดฐานในช่วงทศวรรษ 1950 โดยมีการใช้หน่วยชั่งตวงแบบใหม่ ตามชุดช้อนตวงมาตรฐาน (ปริมาตร) จากของเดิมที่ใช้การชั่งน้ำหนัก ใช้ศัพท์ในการทำอาหารแบบเป็นสากล เช่น ขูด ปอกเปลือก ล้าง เป็นต้น (grate, peel, rinse) จัดอาร์ทเวิคให้แต่ละสูตร สามารถจบได้ในหน้าเดียวไม่ต้องพลิกอ่านหน้าต่อๆไป ทำให้สะดวกในการเปิดแล้วทำตาม การไล่ลำดับอาหาร เปลี่ยนจากการไล่ประเภทอาหาร ไปเป็นไล่ลำดับตามวัตถุดิบหลักของอาหาร ทำให้คนอ่านสามารถบริหารจัดการเมนูได้ง่าย เช่น ไก่ ก็สามารถไล่เรียงได้เลยว่า วันนี้มีไก่ จะทำอะไรกินดี

นอกจากนี้ยังรับประกันว่าทุกสูตรสามารถทำได้จริง เพราะป้าแอนลงมือทดสอบสูตรด้วยตัวเองทุกสูตร นอกจากนี้ยังคงมีการแนะนำให้ใช้การวัดอุณหภูมิในการทำอาหารด้วยเพื่อความเป๊ะในรสชาติ เนื่องจากป้าแอนเห็นตอนไปดูงานที่อเมริกา จนถึงทุกวันนี้ Vår kokbok เป็นหนึ่งในตำราอาหารที่ขายมากที่สุดในโลกด้วยยอดขายมากกว่า 2.3 ล้านเล่มนับตั้งแต่เริ่มต้น โดยเฉลี่ยมากกว่า 40,000 เล่มต่อปี

ด้วยความที่ Kooperativa Förbundets เป็นองค์กรที่มีอิทธิพลสูงมากในวงการอาหารสวีเดน และคุณป้าแอน ก็มีตำแหน่งที่สูงมาก จึงสามารถเป็นผู้มีส่วนสนับสนุนรูปแบบซูเปอร์มาร์เก็ตสมัยใหม่ ในการใส่รายการส่วนผสมและคำแนะนำในการปรุงอาหารในรูปแบบฉลากของผลิตภัณฑ์อาหารสมัยใหม่

จนกระทั่งในช่วงปี 1970 ประเทศสวีเดนต้องเผชิญกับปัญหาราคาอาหารที่สูงเนื่องจากเงินเฟ้อ รวมถึงสภาพอากาศของสวีเดนนั้น ไม่เอื้อต่อการได้รับสารอาหารที่หลากหลายได้ ครอบครัวที่มีเด็ก ไม่สามารถปรุงอาหารและรับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการในราคาที่เหมาะสมได้ รัฐบาลจึงมอบหมายให้ Sweden’s National Board of Health and Welfare (คณะกรรมการสุขภาพและสวัสดิการแห่งชาติของสวีเดน) หาวิธีแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าว และคัดกรองแบ่งประเภทอาหารออกเป็น “basic food” และ “supplement” มาเป็นรูปแบบของ กราฟวงกลม (diet circle) แต่ป้าแอนพบปัญหาบางอย่าง ที่ทำให้กราฟวงกลมนี้ใช้งานยาก เพราะการแบ่งปริมาณของอาหารแต่ละประเภทไม่ชัดเจน

ในระหว่างบรรยายเรื่องการกำหนดอาหารพื้นฐาน คุณ Fjalar Clemes หนึ่งในผู้เข้าร่วมการบรรยาย ได้ให้ไอเดียด้วยการสร้างแบบจำลองที่เรียกว่า ปิรามิดอาหาร (Food Pyramid) ขึ้นมา เพื่อให้เห็นภาพสัดส่วนอาหารที่ชัดเจนขึ้น ป้าแอนเลยนำข้อมูลจากกราฟวงกลมนั้น มาสร้างโมเดลจำลองให้อยู่ในรูปแบบปิรามิด โดยให้ “basic food” เช่น ขนมปัง มันฝรั่ง พาสต้า และนม และ “supplements” เช่น ผลไม้ ผัก เนื้อสัตว์ และปลา อยู่ในรูปแบบที่เข้าใจได้ง่ายขึ้น แม้แต่คนที่อ่านหนังสือไม่ออก

แต่นี่แหละที่เป็นจุดเริ่มต้นของปัญหา ด้วยความที่มันใช้งานง่ายสะดวก อเมริกาจึงนำไปปรับปรุงเป็นเวอร์ชั่นตัวเอง แต่ก็มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ตามที่ได้มีการทำบทความไปแล้ว (อ่านที่นี่)

ทั้งๆที่ปิรามิดต้นแบบของป้าแอนนั้น สร้างขึ้นมาเพื่อชาวสวีเดนเนื่องจากนำข้อมูลพื้นฐานจากข้อจำกัดในประเทศในขณะนั้น ไม่ว่าจะเรื่องของวัตถุดิบที่หาได้ในภาวะยากแค้นแบบนั้น อุณหภูมิอันปรวนแปร รวมถึงสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่มาก การจัดแจงข้อจำกัดที่มีเพื่อให้ได้สารอาหารที่เพียงพอที่สุดเท่าที่จะทำได้ต่างหาก (eat healthier, more affordable and save on fat) ที่เป็นที่มาของ “ปิรามิดอาหารของสวีเดน” (คือ จะให้เอาอุดมคติมาสร้างปิรามิดอาหาร คงไม่มีประโยชน์ เพราะยังไงก็ไม่มีเงินซื้อและหาวัตถุดิบไมไ่ด้ตามอุดมคติ วัตถุประสงค์ในการสร้างและเผยแพร่ครั้งนี้มันเพื่อให้ประชาชนทั้งประเทศที่มีความรู้ด้านอาหารน้อย รู้และทำตามได้จริง สมกับพื้นที่และกำลังทรัพย์ // ความเห็นส่วนตัวผมครับ)

ปิรามิดอาหารที่แท้จริงแล้ว จะมีการปรับปรุงตลอดเวลา ตามปัจจัยที่เปลี่ยนไป ไม่ใช่ปิรามิดที่เอาไว้ยึดถือตลอดไป แต่การที่อเมริกานำไปยึดถือว่าเป็น all time information เป็นค่าคงที่ให้ทั้งโลกยึดตาม รวมถึงสร้างด้วยเบื้องหลังด้านธุรกิจ จึงต่างกับที่ป้าแอนทำในทุกมิติ แต่ไฉน เป้าการบูลลี จึงต้องไปตกที่ป้าแอน ว่าเป็นต้นตอความพังของสุขภาพ มันแฟร์แล้วหรือ

เรื่องนี้มีข้อพิสูจน์ได้จนถึงปัจจุบันเช่น ในปี 2022 ก็มีการนำเสนอ ปิรามิดอาหารสำหรับ Mixed diet, flexitarian, vegetarian และ vegan ออกมาสืบทอดเจตนารมณ์ป้าแอน นอกจากนี้ในช่วงที่ป้าแอนมีชีวิต ก็ยังคงมีการช่วยเหลือแนะนำให้ประเทศต่างๆ “มีปิรามิดอาหารของตัวเอง” นั่นคือ วิชั่นที่กว้างไกลของป้าแอน ที่เห็นได้ชัดเจนว่า อาหารพื้นถิ่นกับสารอาหารที่สมดุล ของแต่ละประเทศมีความไม่เหมือนกัน และแนวคิดนี้ได้มีทั้ง เดนมาร์ก, นอร์เวย์, ฟินแลนด์, ญี่ปุ่น, ศรีลังกา ได้นำไปพัฒนาใช้เช่นกัน

นอกจากนี้ ป้าแอนและองค์กร Kooperativa Förbundets ยังให้ข้อมูลการศึกษาที่สำคัญสำหรับประชาชนผ่านบทความเกี่ยวกับอาหารที่ตีพิมพ์ใน นิตยสาร Vi รวมถึงการจัดตั้งกลุ่มการศึกษาร่วมกับทาง สมาคมการศึกษาของชนชั้นแรงงาน หรือ Arbetarnas bildningsförbund (ABF) มีส่วนสนับสนุนในการอภิปรายแบบเปิดทางสังคมเกี่ยวกับปัญหาโรคอ้วนอีกด้วย รวมถึงยังออกหนังสือเกี่ยวกับการทำอาหารอีกร่วมๆ 30เล่ม ซึ่งรวมถึงบทเกี่ยวกับมื้ออาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่สมดุล ด้วยเช่นกัน

ในปี 1983 ป้าแอนได้ตีพิมพ์หนังสือ Matboken ซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นประโยชน์อย่างมาก โดยเฉพาะกับคนหนุ่มสาวเกี่ยวกับวิธีการกินอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการและมีวิธีทำที่เรียบง่ายที่สุด

ในช่วงทศวรรษ 1990 เมื่อป้าแอนเป็นม่าย จึงได้ย้ายเข้าไปอยู่ในบ้านพักคนชรา Färdknäppen ใน Södermalm ในสตอกโฮล์ม และ ได้แก้ไขสูตรอาหาร 250 สูตรจาก Vår kokbok เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมการปรุงอาหารส่วนกลางของบ้านพักคนชรา เพื่อให้ได้อาหารที่มีสารอาหารครบถ้วนตามที่ควรเป็น

เกียรติประวัติป้าแอนได้รับการตอบแทนดังนี้
ในปี 1979 ได้รับรางวัลเหรียญ St Erik เพื่อเป็นการยกย่องสิ่งที่เธอทุ่มเทแรงกายแรงใจทำมาตลอดชีวิต
ในปี 1993 ได้รับเหรียญ HM Konungens ลำดับที่ 8 (HM The King’s Medal หรือ H.M. Konungens medalj ในภาษาสวีเดน) เป็นหนึ่งในรางวัลเกียรติยศที่สำคัญที่สุดที่มอบโดยพระมหากษัตริย์สวีเดนเพื่อยกย่องบุคคลที่มีผลงานดีเด่นหรือมีความโดดเด่นในด้านต่าง ๆ เช่น วิทยาศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรม และการบริการสาธารณะ
ในปี 1995 ได้รับเหรียญทอง Albin Johansson สำหรับผลงานอันทรงคุณค่าของเธอต่อสหกรณ์สวีเดน
ในปี 1998 ได้รับรางวัล Gastronomiska Akademiens Guldpenna (ปากกาทองของสถาบันอาหาร) สำหรับบทความเกี่ยวกับส่วนผสมและการทำอาหารของเธอ

Anna-Britt Agnsäter เสียชีวิตในปี 2006 (อายุ 90ปี)
ป้าแอนทำงานทั้งชีวิตเพื่อสอนชาวสวีเดนในการจัดการอาหารให้ดีขึ้น ทุกการทดลอง ทดสอบ ได้มีการบันทึกไว้อย่างชัดเจนสามารถพัฒนาต่อไปได้ การริเริ่มให้ข้อมูลที่ซื่อสัตย์ต่อผู้บริโภค ทั้งการติดฉลากอุปกรณ์ คำแนะนำในการทำอาหาร สูตรอาหาร บทความ และตำราอาหาร สิ่งเหล่านี้กลายเป็นพื้นฐานสำคัญในอุตสาหกรรมอาหารจนปัจจุบัน

แต่ทุกวันนี้วงการสุขภาพส่วนมากยังคงล้อเลียนเธอว่าเป็นครูธรรมดา ที่มีหน้ามาสร้างปิรามิดอาหาร จึงทำให้คนทั่งโลกป่วย ทั้งที่ความจริงทั้งหมดนั้น ความรู้ของป้าแอนไม่ได้น้อยไปกว่า ผู้เชี่ยวชาญทางวิทยาศาสตร์การอาหาร ซึ่งในสมัยนั้นนับว่าเป็นอีกแขนงที่อยู่ในระดับบนของการศึกษา ไม่ต่างกับวิทยาศาสตร์อื่นๆ ปิรามิดควรเป็นไปตามถิ่นที่อยู่ สภาพเวลาและสภาพเศรษฐกิจขณะนั้น ไม่ใช่การสร้างมาตรฐานให้ต้องทำเหมือนกันทั่วโลก โดยมาจากอิทธิพลของกลุ่มธุรกิจดังที่ usda ได้ทำการแก้ไขก่อนจะประกาศให้คนทั่วไปยึดถือ รายละเอียดเป็นไปตามที่สืบค้นข้อมูลประวัติของป้าแอน มาเล่าสู่กันฟัง ณ วันนี้ครับ

ผมก็เป็นหนึ่งในนั้น สิ่งที่ผมสามารถทำได้เพื่อเป็นการขอโทษคุณ Anna-Britt Agnsäter ที่ดีที่สุดที่ทำได้ตอนนี้คือ เผยแพร่ประวัติอันทรงคุณค่าของเธอ ให้คนอื่นๆได้รับทราบมากที่สุด เท่าที่จะทำได้

โปรดแชร์ เพื่อคืนความเป็นธรรมให้ Anna-Britt Agnsäter ให้โลกได้เข้าใจและรับรู้ถึงการอุทิศชีวิตให้วงการอาหารของคุณป้าครับ

ปล.มีการค้นพบไฟล์เสียง ที่ป้าแอน จัดรายการวิทยุในปี 1968 ให้ลองฟังกันครับ (น่าจะภาษาสวีเดนนะ 5555)

โต้งเอง บุคคลที่พยายามเล่าเรื่องที่คนไม่รู้เรื่อง ให้รู้เรื่อง แม้บางทีคนที่อยากให้รู้เรื่อง จะอ่าน/ฟังแล้วไม่รู้เรื่องก็ตาม