เมื่อมีคำถามถึง หมู ไก่ โอเมก้า3
เคลียร์ใจกันก่อน (อีกละ 555555 ขึ้นแบบนี้อีกละ)
จุดเริ่มต้นเลยคือมีคนถามเรื่อง หมูไก่ โอเมก้า3 ซึ่งผมก็เห็นมานานแล้ว โดยเฉพาะไก่ อันโด่งดัง แต่ตอนนั้นไม่ได้สนใจอะไรมาก หมูไก่สด มันก็ดีแหละ แต่พอคนถามมากเข้าก็เลยต้องลองหาอะไรเก๊าะแก๊ะ สักหน่อย
โพสนี้เป็นแค่การตั้งคำถามและทดลองหาคำตอบ ซึ่งมันอาจจะไม่จริงก็ได้ อย่าเพิ่งเชื่อและยินดีรับข้อมูลเพิ่มเติม เพราะส่วนตัวกำลังอยู่ในช่วงพยายามติดต่อผู้ผลิต อยากรู้ข้อมูลเพิ่ม ดังนั้นไม่ได้โจมตีนะ 5555
หมูโอเมก้า ไก่โอเมก้า ตอนนี้ทำตลาดอย่างหนัก ไอ้เราก็อยากรู้ว่ามันจะเอาโอเมก้ามาจากไหน แล้วมันเป็นโอเมก้าแบบไหน ที่ผ่านมาได้ยินแต่โอเมก้า3 ควรได้รับจากปลาทะเลน้ำลึก โอเคเราแบ่งช่วงเป็นแบบนี้ครับ
1.ประเภทของโอเมก้า 3
โอเมก้า เป็นฟอร์มนึงของไขมันประเภท polyunsaturated fat หรือ ไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน ซึ่งโอเมก้า3 มีแบ่งย่อยประเภทไปอีกเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆที่เราคุ้นเคยกัน ซึ่ง 2ประเภทที่ร่างกายเอาไปใช้ได้เต็มที่คือ
EPA และ DHA ได้จากปลาทะเลไปจนถึงทะเลน้ำลึก
ส่วน ALA มักพบในปลาน้ำจืด พืชต่างๆเช่น แฟลกซีด ร่างกายพอจะแปลงไปใช้ได้แต่จะทำได้ไม่ถึง 10% และยิ่งคนที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ก็จะยิ่งแปลงตัวนี้ไปใช้งานยาก
ทีนี้จากข้อมูลในเว็บไซท์ของหมูไก่โอเมก้าคือ หมูมีการเลี้ยงด้วย แฟลกซีด กับ สาหร่ายทะเลลึก ไก่เลี้ยงด้วยข้าวกล้อง กับ แฟลกซีด ซึ่งเข้าใจว่าคำว่า “เลี้ยงด้วย” น่าจะหมายถึงอาหารที่มีส่วนผสมของแฟลกซีด ข้าวกล้อง และสาหร่ายทะเลลึก (แล้วแต่ว่าจะหมูหรือไก่) จะพูดแบบง่ายๆก็คือ plant base food
ส่วนคำว่า มีโอเมก้า3 เหมือนปลาแซลมอน ก็น่าจะหมายถึงโอเมก้า3 ที่ยังไม่ได้แยกแยะประเภทย่อย ซึ่งจะเป็นอะไรเท่าไรนั้น ยังตอบไม่ได้เพราะไม่มีข้อมูลแบบ fact sheet อะไรออกมาเคลม
ซึ่งถ้าจะตอบได้ว่า หมูไก่ โอเมก้า3 ดีแค่ไหนดีจริงไหม ก็ต้องมาวัดที่ตัว EPA และ DHA ว่าเป็น 2 ประเภทนี้ด้วยไหม ก่อนจะไปที่ข้อต่อไป
2.ปริมาณของโอเมก้า3 ที่เป็น EPA & DHA
กราฟจากเว็บไซท์ official เคลมระดับ “โอเมก้า3” แบบมิลลิกรัม โดยเทียบกับส่วนต่างๆของหมู ไก่ กับ โอเมก้า3 แคปซูล จากนั้นลงท้ายกราฟด้วย ปริมาณ “โอเมก้า3” ของแซลมอนไว้ที่ 607มิลลิกรัม/100กรัม โดยอ้างอิงข้อมูลจาก
สายพันธุ์ Oncorhynchus Gorbuscha (Walbaum)
ปริมาณแนะนำที่ร่างกายควรได้รับโอเมก้า 3 = 500 มก./วัน
ที่มา : The Food and Nutrition Board in the United States (2002)
เรามาย่อยดูทีละจุดจะพบว่า อย่างแรกเลยผมไม่เจอข้อมูลว่า โอเมก้า3 ที่ว่ามันเป็น EPA หรือ DHA เพราะถ้ามันเป็น ALA ก็จะไม่ค่อยมีประโยชน์สักเท่าไร ดังนั้นการใช้กราฟที่ไม่ได้ระบุว่าประเภทของโอเมก้าอะไร จึงต้องหมายรวมว่า เป็น total omega3 ไปโดยปริยาย เว้นแต่ว่าจะตั้งใจละไว้ให้สับสน เพราะอะไร ทำไมไม่ชูจุดขายไปเลยว่า DHA เท่าไร
ในกราฟมีการเทียบน้ำมันปลาแคปซูล ซึ่งตัวเริ่มต้นตามตลาดทั่วไปเป็น 300มก / เม็ด จริงๆครับ แต่เขาจะแยกให้ชัดเจนว่าอะไรเท่าไร เช่นตัวอย่างจะบอกว่า EPA 180 / DHA 120 ซึ่งถ้าเทียบแบบนี้จะเป็นอื่นใดไม่ได้ว่า หมูไก่ โอเมก้า “จะต้อง” มีปริมาณ EPA+DHA ตามที่กราฟแสดง ซึ่งถือว่าเป็นจุดที่น่าสนใจ แต่นั่นหมายถึงว่าถ้าจะเคลียร์ใจได้ เราก็ต้องเอา fact sheet ของหมูไก่โอเมก้า มากางกันก่อน
จากนั้นเรามาดูต่อที่โอเมก้าของแซลมอน ตามที่แสดงไว้ว่า 607มก/100กรัม และเข้าใจว่าอิงข้อมูลของพันธุ์ Oncorhynchus Gorbuscha (Walbaum) ส่วน The Food and Nutrition Board in the United States (2002) น่าจะเป็นเรื่องปริมาณแนะนำ ซึ่งยังไม่พูดตอนนี้ เราคัดเฉพาะส่วนของแซลมอนมาคุยก่อน
ผมเจอข้อมูลของ แซลมอน Oncorhynchus gorbuscha ที่ค่อนข้างเชื่อถือได้คือจาก fishbase เจ้าเดิม สลักหลังมาด้วยสารพัดองค์กรเกี่ยวกับปลา ถ้าโพไซดอนมาได้คงมาแล้ว พบว่า ตัวเลขที่เคลมเป็นตัวเลขของ โอเมก้าตัวรวม โดยใช้ค่า Lower 90% HPD หรือ ‘Highest Posterior Density’ เราเรียกอะไรดีหล่ะ ภาษาไทยเรียก ค่าต่ำสุดที่อยู่ในช่วงที่ครอบคลุม 90% ของความน่าจะเป็นทั้งหมด งงมะ 5555 เอาเป็นว่า ส่วนใหญ่ที่เคยเห็นการนำสถิติมาใช้ เขานิยมค่า median เป็นค่าที่สะท้อนถึง “ค่ากลาง” ที่คาดหวังสำหรับพารามิเตอร์ที่กำลังศึกษา ซึ่งทำให้เป็นตัวเลือกที่เหมาะสมสำหรับการนำเสนอข้อมูลที่ไม่เบี่ยงเบนมากนัก
ซึ่งข้อมูลจากตารางบ่งบอกว่า Total Omega3 ถ้าเป็น Lower 90% HPD จะอยู่ที่ 0.59g/100g แต่ถ้าเป็นค่า median จะอยู่ที่ 1.17g/100g
ต่อมาคือ ทำไมต้องเทียบกับแซลมอนพันธุ์ Oncorhynchus gorbuscha หรือเราเรียกว่า “ปลาแซลมอนฮัมป์แบ็ค” (Humpback Salmon) ทั้งที่ จับได้มากที่สุด แต่ก็ไม่ค่อยเป็นที่นิยมในการบริโภคเท่ากับปลาแซลมอนสายพันธุ์อื่นๆ มีเนื้อสัมผัสที่ค่อนข้างหยาบเนื่องจากมีไขมันน้อย ถ้าเทียบกับ แอตแลนติกที่เป็นพันธุ์มาตรฐานอีกพันธุ์ จะพบว่า
ปริมาณโอเมก้า-3 ในปลาแซลมอนแอตแลนติกเลี้ยงมีแนวโน้มที่จะอยู่ที่ประมาณ 1.8 ถึง 2.5 กรัม ต่อ 100 กรัมของเนื้อปลา
ปริมาณโอเมก้า-3 ในปลาแซลมอนฮัมป์แบ็ค มักจะอยู่ที่ประมาณ 0.5 ถึง 1 กรัม ต่อ 100 กรัมของเนื้อปลา
นั่นสินะ ทำไมการเลือกพันธุ์ของปลา เพื่อมาเปรียบเทียบปริมาณโอเมก้า3 ต้องเอาพันธุ์ไขมันน้อยมาเทียบนะ ต้องทำการศึกษาต่อไป ขอให้สุขสวัสดิ์
3.อาหารสำเร็จที่ bold ความโอเมก้า3
จากข้อที่ผ่านมา เราตั้งคำถามถึง EPA DHA ไปแล้ว ดังนั้นขณะที่ยังไม่ทราบคำตอบจากข้อที่ผ่านมา ข้อนี้เราจะลองมาดูแค่ปริมาณโดยรวมกันไปก่อน
โดยเรามาดูฉลากโภชนาการก็จะพบว่า สัดส่วนโอเมก้า3ต่อ100กรัม ของขาหมูพร้อมกิน มีอยู่เพียง 190มก/100ก ในขณะที่หมูสามชั้นพร้อมกิน มีอยู่ที่ 1005มก/100ก ก็อาจทำให้น่าคิดว่าทำไมจึงมีความต่างได้ขนาดนั้น และเมื่อเทียบกับโอเมก้าแคปซูล ที่มีโอเมก้า3 ที่ 300มก/เม็ด (DHA 120มก) ก็คงบอกได้ว่า ขึ้นอยู่กับผู้บริโภคว่าจะเลือกชื่นชอบในจุดไหน หรือสลับกันกินไปเพื่อความ “เอร็ดอร่อย”
อ่านทั้งหมดแล้วอาจดูเหมือนว่าผมโจมตี แต่บอกเลยนะว่าไม่ใช่ ใครจะถือว่านี่เป็นนวตกรรมการอาหาร ก็ไม่เถียงเลย ผมแค่สงสัยจากการเรียนรู้ครับ
ผมขอพูดหล่อๆแบบที่เพจเก่งๆเขามักใช้กันว่า ผมมีสิทธิ์ตั้งข้อสงสัย ผมมีสิทธิ์ตั้งคำถามใช่ไหมครับ อันนี้ผมก็เลยลองตั้งคำถามบ้าง แต่ผมทำมากกว่านิดนึงคือ ผมไปหาข้อมูลมาเสริมคำถามผมด้วย อันนี้คนเก่งๆในอินเตอร์เนทน่าจะให้อภัยในความโง่ของผมได้เนอะ แล้วผมก็พยายามหา ref เท่าที่จะหาได้เช่น
https://www.thepigsite.com/articles/omega3-enriched-pork (publish ปี 2009 หลังจาก 2002 ซึ่งเป็นปีที่อ้างอิงเรื่องโอเมก้าในแซลมอนในข้อ 2) ซึ่งมีจุดที่น่าสนใจที่ว่า
หมูที่กินอาหารที่มีข้าวโพดเป็นหลัก เนื่องจากข้าวโพดมีไขมันไม่อิ่มตัวค่อนข้างสูง โดยทั่วไปแล้ว ในการผลิตผลิตภัณฑ์หมูที่เสริมโอเมก้า 3 กรดไขมันโอเมก้า 3 ซึ่งโดยปกติแล้วจะเป็น ALA จากเมล็ดแฟลกซ์ จะถูกป้อนให้กินเป็นระยะเวลาสั้นๆ ก่อนการฆ่า
การศึกษาวิจัยโดย Héctor Martínez-Ramírez และ Dr Kees de Lange ได้ศึกษาอัตราการคงอยู่และการเปลี่ยนแปลงที่ปรากฏของ ALA เป็น EPA, DPA และ DHA ในแม่หมูสาวที่กำลังเจริญเติบโต โดยในช่วงระยะเวลา 30 วัน พวกเขาได้ให้อาหารที่ประกอบด้วยข้าวโพด ข้าวสาลี และกากถั่วเหลือง โดยมี flaxseed บด 10 เปอร์เซ็นต์ แก่แม่หมูสาวที่มีน้ำหนักระหว่าง 27.7 กก. ถึง 45.7 กก.
พวกเขาพบว่าปริมาณกรดไขมันโอเมก้า-3 และโอเมก้า-6 ในร่างกายเพิ่มขึ้นตามเส้นตรงเมื่อเวลาผ่านไป อย่างไรก็ตาม ประสิทธิภาพในการคงอยู่ของ ALA ลดลงตามตัวเลขระหว่างช่วงเวลาที่วัด (วันที่ 0 ถึง 15 และวันที่ 15 ถึง 30) ส่วนการเปลี่ยน ALA ไปเป็น EPA และ DPA ไม่เปลี่ยนแปลงเมื่อเวลาผ่านไป
ผลลัพธ์ที่น่าสนใจจากการศึกษาคือหมูมีลักษณะเฉพาะในการเก็บกรดไขมันโอเมก้า-3 ชนิด eicosatrienoic acid (ETE) ซึ่งเป็นสารประกอบกลางระหว่าง ALA และ EPA ซึ่งควรได้รับการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป
ข้อความสำคัญสำหรับผู้ผลิตและผู้บริโภคคือคำว่า “เนื้อหมูเสริมโอเมก้า-3” อาจทำให้เข้าใจผิดได้ สิ่งที่สำคัญกว่าปริมาณโอเมก้า-3 ทั้งหมดคือความเข้มข้นของกรดไขมันโอเมก้า-3 ที่ส่งเสริมสุขภาพ เช่น EPA, DPA และ DHA และการกระจายตัวของกรดไขมันเหล่านี้ในเนื้อแดงและเนื้อไขมัน ดังนั้น แม้ว่าการให้อาหารด้วย flaxseed จะทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นของกรดไขมันโอเมก้า-3 สายยาวในระดับปานกลาง แต่ความสามารถของหมูในการเปลี่ยน ALA ไปเป็น EPA, DPA และ DHA จะลดลงเมื่อเวลาผ่านไป และอาจไม่สามารถทำให้ได้ระดับการเสริมที่ต้องการได้
หรือในปี 2021 Bioavailability and metabolism of omega-3 polyunsaturated fatty acids in pigs and omega-3 polyunsaturated fatty acid-enriched pork ได้รีวิวไว้ว่า
It is generally accepted that increasing long chain ω-3 PUFA consumption has beneficial effects on human health, especially on the cardiovascular system. Pork was the most commonly consumed meat in the world in 2018, but commercial pork generally contains a low amount of ω-3 PUFA. Supplementation of pig diets with plant-based ALA can generally enhance the content of ω-3 FA, such as ALA and EPA, in the tissues and organs
ซึ่งก็ยังไม่ได้ mension ถึง DHA
เราอาจเคยเห็นสินค้าน้ำมันพืชได้ตอบเรื่องนี้ได้อย่างชัดเจนว่า
โอเมก้า 3 ที่ระบุในฉลากน้ำมันพืช มีประโยชน์เหมือนในน้ำมันปลา จริงหรือไม่
โอเมก้า 3 ที่อยู่ในน้ำมันพืชนั้น คือ Linolenic Acid ; C 18:3 เป็นคนละชนิดกับที่มีในน้ำมันปลา คือ Docosahexaenoic acid (DHA) ; C 22:6 และ Eicosapentaenoic acid (EPA) ; C 20:5 และจากการวิจัยพบว่า การเปลี่ยนโครงสร้างจากโอเมก้า 3 (C 18:3) ที่อยู่ในน้ำมันพืชเป็นโอเมก้า 3 (DHA ; C 22:6 / EPA ; C 20:5) เหมือนที่มีอยู่ในน้ำมันปลาแต่เกิดขึ้นได้ในปริมาณที่น้อยมาก
และเมื่อผมลองทันสมัยกับเค้าบ้างด้วยการถาม chatCGP ได้คำตอบแบบแปลเป็นไทยว่า
สุกรมีความสามารถจำกัดในการเผาผลาญกรดไขมันโอเมก้า-3 ที่มาจากพืช เช่น กรดแอลฟา-ไลโนเลนิก (ALA) ให้เป็นกรดไขมันโอเมก้า-3 สายยาวอย่างกรดโดโคซาเฮกซาอีโนอิก (DHA) แม้ว่าสุกรจะสามารถเปลี่ยน ALA ไปเป็นกรดไขมันโอเมก้า-3 สายยาวบางชนิด เช่น กรดอีโคซาเพนตาอีโนอิก (EPA) และกรดโดโคซาเพนตาอีโนอิก (DPA) ได้บ้าง แต่ประสิทธิภาพในการเปลี่ยนไปเป็น DHA นั้นค่อนข้างต่ำ เนื่องจากเส้นทางเอนไซม์ที่จำเป็นสำหรับการยืดสายและการเติมพันธะคู่ของ ALA ไปเป็น DHA ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพในสุกร
ดังนั้น แม้ว่าสุกรจะสามารถเปลี่ยน ALA ไปเป็น EPA และ DPA ได้บ้าง แต่การเปลี่ยนไปเป็น DHA นั้นมีน้อย และกระบวนการนี้อาจไม่สามารถผลิต DHA ในปริมาณที่มากพอในผลิตภัณฑ์เนื้อหมูได้หากไม่มีการเสริม DHA จากแหล่งที่อุดมไปด้วย DHA เช่น น้ำมันปลา โดยตรงค่ะ
อย่างไรก็ตามผมก็ยังหวังว่า เทคโนโลยียุค 2023-2024 น่าจะล้ำไปกว่าการศึกษาหรือข้อมูลในปี 2021 เขาอาจมีเทคโนโลยีที่ทำให้หมูสามารถ metabolize plant-based omega-3 fatty acids จาก ALA ไปเป็น DHA ได้แล้วกระมัง ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นจริงๆนี่ น่าดีใจมากเลยนะครับ
และคำถามที่น่าสนใจคำถามสุดท้ายคือ ปลากระป๋องตัวนี้ มี DHA เท่าไรนะครับ
ขอให้มีสุขสวัสดิ์ครับ
ปล. ไก่เบญจาผมก็กินบ่อยนะ หลายร้านชอบใช้ 5555 ผมจะพยายามติดต่อทางผู้ผลิตเพื่อขอข้อมูลเกี่ยวกับ DHA ต่อไปนะครับ เผื่อว่าได้มาเป็นการศึกษากันครับ
ปล.เข้าใจกันก่อนนะว่า ผมเชื่อว่ามีโอเมก้า3 แต่ผมไม่ทราบว่ามันมี EPA / DHA ที่คนเราดูดซึมไปใช้งานได้ดีอยู่ที่เท่าไร แล้วมี ALA อยู่ที่เท่าไร เพราะเอาจริงๆโอเมก้า3คำเดียวมันกว้างไป เลยอยากรู้ว่าที่มันได้ประโยชน์เต็มๆมีแค่ไหนครับ