ร่างกฎหมาย Hippo Bill
ร่างกฎหมาย “ฮิปโปบิลล์” (Hippo Bill) ปี 1910 เป็นหนึ่งในเรื่องราวทางการเมืองที่แปลกและน่าสนใจที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา เรื่องนี้เริ่มต้นจากการที่ประเทศเผชิญกับปัญหาขาดแคลนเนื้อสัตว์และปัญหาผักตบชวาที่กำลังล้นแหล่งน้ำในรัฐลุยเซียนา ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับแหล่งน้ำและทรัพยากรประมงในท้องถิ่น เพื่อแก้ไขปัญหานี้ สมาชิกสภาคองเกรส โรเบิร์ต โบรซซาร์ด (Robert Broussard) จึงเสนอร่างกฎหมายที่มีชื่อว่า “American Hippo Bill” โดยมีเป้าหมายในการนำเข้าฮิปโปโปเตมัสจากแอฟริกาเพื่อช่วยกำจัดปัญหาผักตบชวารุกราน และในขณะเดียวกันยังเสนอแนวคิดว่าฮิปโปจะสามารถเป็นแหล่งเนื้อสัตว์ใหม่ให้กับชาวอเมริกันได้
ที่มาของปัญหาการขาดแคลนเนื้อสัตว์
ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 (ราวๆ 1900s ฮาๆๆ ปีนี้ช่วงนี้อีกแล้ว แฟนๆ #บอกเล่า90บวก1 น่าจะคุ้นเคยดี) มีการอพยพเข้ามามาก สหรัฐอเมริกาจึงประสบกับปัญหาขาดแคลนอาหารอย่างหนัก โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ที่เป็นหนึ่งในอาหารหลักของชาวอเมริกัน แม้อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ขยายตัวอย่างมาก แต่ก็ไม่สามารถตามทันได้เนื่องจากการล่าและการทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ในทวีปอเมริกาเหนือทำให้สัตว์บางชนิดเกือบจะสูญพันธุ์ อาทิ ไบซัน และกวาง ที่เป็นแหล่งเนื้อหลัก ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนเนื้อสัตว์ จนทำให้รัฐบาลต้องพิจารณาหาวิธีการในการเพิ่มแหล่งเนื้อสัตว์ใหม่อย่างจริงจัง
ปัญหาผักตบชวารุกราน
ในช่วงเวลานั้น รัฐลุยเซียนายังประสบปัญหาพืชน้ำชนิดหนึ่งคือ “วอเตอร์ไฮยาซินท์ (Water Hyacinth) ” หรือผักตบชวา ซึ่งนำเข้ามาในอเมริกาโดยคณะผู้แทนจากญี่ปุ่นที่มาเยือนนิวออร์ลีนส์ในปี 1884 แล้วมันดันเติบโตอย่างรวดเร็วมากกกกอย่างที่เรารู้ฤทธิ์มันดี และทำให้การทำประมงเป็นไปอย่างยากลำบาก เพราะมันทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยของปลาและสัตว์น้ำอื่น ๆจนตายเป็นเบือ ผักตบชวาเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วและครอบคลุมแม่น้ำลำคลองเกือบทั้งหมด ทำให้การคมนาคมทางน้ำและการใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำเป็นไปอย่างยากลำบากมาก
** สำหรับประเทศไทย เท่าที่หาข้อมูลมาได้ ในปี พ.ศ. 2444 (ค.ศ. 1901) เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสประเทศอินโดนีเซีย ไม่มีบันทึกว่าพระองค์ได้นำผักตบชวากลับมาด้วย อย่างไรก็ตาม ผักตบชวานั้นถูกนำเข้ามาในประเทศไทยในช่วงหลังจากนั้น โดยในปี พ.ศ. 2455 (ค.ศ. 1912) เป็นช่วงที่พระยาศรีวิสารวาจานำพืชชนิดนี้เข้ามาเพื่อใช้ในงานประดับและฟอกน้ำตามคูคลองในประเทศไทย แต่ในที่สุดกลับกลายเป็นพืชที่แพร่กระจายและก่อปัญหาในแหล่งน้ำของประเทศครับ **
เกิดแนวคิดฮิปโปจ๋าเป็นทางแก้ปัญหา
ด้วยปัญหาทั้งสองนี้ โรเบิร์ต โบรซซาร์ด เห็นว่าฮิปโปโปเตมัสอาจเป็นคำตอบของทั้งปัญหาขาดแคลนเนื้อสัตว์และปัญหาผักตบชวารุกราน เนื่องจากฮิปโปเป็นสัตว์ที่กินพืชน้ำในแหล่งน้ำต่าง ๆ รวมถึงผักตบชวาด้วยแถมกินจุมากๆ นอกจากนี้ โบรซซาร์ดเชื่อว่าฮิปโปสามารถเป็นสัตว์เลี้ยงเพื่อเอาเนื้อให้แก่ชาวอเมริกันบริโภคได้
แนวคิดนี้ได้รับการสนับสนุนจากบุคคลสำคัญอย่าง เฟรเดอริก รัสเซล เบิร์นแฮม (Frederick Russell Burnham) บุคคลสำคัญอย่างน่าตะลึงและถูกลืมเลือนไปจากประวัติศาสตร์โดยสิ้นเชิง เป็นสุดยอดลูกเสือและสปาย เดินทางไปแอฟริกาเพื่อต่อสู้ให้กับนักล่าอาณานิคมชาวอังกฤษ เพราะเช่นเดียวกับผู้คนจำนวนมากในสมัยนั้น เขาคิดว่านี่เป็นภารกิจอันสูงส่งที่จะนำ “อารยธรรม” มาสู่แอฟริกา ครั้งหนึ่งเขาเคยได้รับการขนานนามว่าเป็น most complete human being who ever lived อีกด้วย อ่อ นอกจากนี้เขายังเป็นนักผจญภัยต้นแบบของการเขียนเรื่อง อินเดียน่าโจนส์ ด้วยครับ มีวลีอมตะที่นักข่าวคนนึงเขียนถึงเขาว่า “He has trained himself to endure the most appalling fatigues, hunger, thirst, and wounds; has subdued the brain to infinite patience, has learned to force every nerve in his body to absolute obedience, to still even the beating of his heart,”
และอีกคนนึงคือ ฟริตซ์ ดูเคน (Fritz Duquesne) เป็นชาวบัวร์ เขาเป็นคนมีไหวพริบมาก เขาใช้ชีวิตไปวันๆ โดยใช้ชื่อปลอม เขาเป็นนักต้มตุ๋นที่เก่งกาจและทะเยอทะยาน เขาต่อสู้กับอังกฤษในสงครามบัวร์ครั้งที่สอง เขาเป็นสายลับที่อิสระ เบิร์นแฮมเคยเรียกเขาว่า human epitome of sin and deception ที่ฮาคือ ในช่วงสงครามบัวร์ ชายสองคนนี้ได้รับมอบหมายให้ฆ่ากันเองครับ 5555
เอาเป็นว่าทั้งสองคนเคยใช้ชีวิตในแอฟริกาและเคยมีประสบการณ์การกินเนื้อฮิปโปมาแล้ว ในช่วงเวลาที่พวกเขาอาศัยอยู่ที่นั่น
** สงครามบัวร์ (Boer War) หรือที่เรียกอย่างเป็นทางการว่า “สงครามแองโกล-บัวร์” (Anglo-Boer Wars) เป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างชาวบัวร์ (Boer) ซึ่งเป็นผู้ตั้งถิ่นฐานชาวดัตช์ในแอฟริกาใต้ กับจักรวรรดิอังกฤษ โดยเกิดขึ้นทั้งหมดสองครั้ง:
- สงครามบัวร์ครั้งที่หนึ่ง (1880–1881): เกิดจากความไม่พอใจของชาวบัวร์ที่ต่อสู้เพื่ออิสรภาพจากการยึดครองของอังกฤษ ซึ่งควบคุมอาณานิคมแหลม (Cape Colony) ในแอฟริกาใต้ การต่อสู้นี้จบลงด้วยความพ่ายแพ้ของอังกฤษ และบัวร์ได้รับสิทธิในการปกครองตนเองในบางพื้นที่
- สงครามบัวร์ครั้งที่สอง (1899–1902): เกิดจากการขยายตัวของจักรวรรดิอังกฤษในแอฟริกาใต้ โดยเฉพาะในภูมิภาคที่ชาวบัวร์ครอบครอง ซึ่งมีแหล่งทองคำและเพชรอยู่ สงครามครั้งนี้กินเวลานานกว่าและทารุณกว่าครั้งแรก โดยอังกฤษใช้ยุทธวิธีกักกันครอบครัวบัวร์ในค่ายกักกันและเผาทำลายฟาร์ม จนในที่สุดชาวบัวร์พ่ายแพ้และดินแดนของพวกเขาถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิอังกฤษ
ผลจากสงครามครั้งที่สอง ทำให้เกิดการก่อตั้งสหภาพแอฟริกาใต้ในปี 1910 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิอังกฤษ สงครามบัวร์ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์แอฟริกาใต้ที่ส่งผลต่อการเมืองและสังคมในภูมิภาคนี้ต่อมา
แน่นอนว่าต้องได้รับสนับสนุนจากบุคคลสำคัญ
แนวคิดในการนำเข้าฮิปโปของโบรซซาร์ดได้รับการสนับสนุนจากบุคคลสำคัญในสังคมสหรัฐอเมริกาในเวลานั้น เช่น อดีตประธานาธิบดี Theodore Roosevelt และ William Newton Irvin กระทรวงเกษตรของสหรัฐ – USDA (อีกแล้ว) รวมถึงการผนึกกำลังกับสื่อมวลชนยักษ์ใหญ่ในขณะนั้น อย่าง The Washington Post และ The New York Times ต่างก็ได้รายงานถึงร่างกฎหมายนี้ด้วยความสนใจ ถึงกับเรียกเนื้อฮิปโปว่า “lake cow bacon” (เบคอนจากวัวทะเลสาบ) เพื่อยกย่องถึงคุณภาพของเนื้อที่คาดว่าจะได้จากฮิปโปว่ารสเลิศ และไม่ต้องเปลืองพื้นที่ในการเลี้ยง เพราะมันอยู่ในบ่อน้ำได้สบายๆ พยายามนำเสนอชวนเชื่อให้ประชาชนเต็มที่
แผนการและข้อเสนอ
แผนการของโบรซซาร์ดคือการนำเข้าฮิปโปจากแอฟริกาและปล่อยลงในแม่น้ำลำคลองในภาคใต้ของสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะในรัฐลุยเซียนา ซึ่งฮิปโปจะช่วยกำจัดพืชน้ำอย่างผักตบชวาและยังให้เนื้อสัตว์เป็นแหล่งอาหารใหม่ให้กับประชาชนได้พร้อมๆกัน
โบรซซาร์ดและผู้สนับสนุนของเขายืนยันว่าฮิปโปสามารถเลี้ยงในฟาร์มขนาดเล็กและสามารถให้เนื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าวัว รสชาติและกลิ่นคล้ายคลึงกัน สามารถเป็นสัตว์เศรษฐกิจได้เนื่องจากฮิปโปเป็นสัตว์ที่กินพืชน้ำและสามารถเจริญเติบโตได้ในแหล่งน้ำของสหรัฐ
เฟรเดอริก เบิร์นแฮม ยังเสนอแนะว่าฮิปโปสามารถช่วยในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและการขาดแคลนอาหารของประเทศ เขาชี้ให้เห็นว่าในอดีต สหรัฐอเมริกาเคยนำเข้าสัตว์ต่างถิ่นอย่างเช่น อูฐจากแอฟริกาเพื่อใช้ในพื้นที่ทะเลทรายตะวันตก และยังเคยนำเข้ากวางเรนเดียร์จากรัสเซียมาเลี้ยงในอะแลสกาเพื่อใช้ทดแทนกวางคาริบูพื้นเมืองที่ลดจำนวนลง รวมถึงนกกระจอกเทศเพื่อหวังเรื่องการบริโภคเนื้อมาแล้ว
แต่ก็ยังมีข้อกังวล
แม้จะมีการสนับสนุนอย่างมาก แต่ก็มีข้อกังวลเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการเลี้ยงฮิปโปในฟาร์มขนาดเล็ก ความปลอดภัยของประชาชนเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่ง เพราะฮิปโปเป็นหนึ่งในสัตว์ที่อันตรายที่สุดในโลก แม้จะเป็นสัตว์กินพืช แต่ฮิปโปก็มีรายงานว่าสามารถฆ่าคนได้หลายร้อยคนต่อปี และยังมีพฤติกรรมที่เป็นอันตรายเมื่อถูกรบกวนหรือถูกคุกคาม เอาจริงๆมันหวงที่มากแม้จะไม่ได้ทำอะไรมัน มันก็พร้อมจะเข้าโจมตีคน
นอกจากนี้ ยังมีคำถามเกี่ยวกับอาหารของฮิปโปด้วย โดยผู้สนับสนุนร่างกฎหมายเชื่อว่าฮิปโปจะกินพืชน้ำอย่างผักตบชวา แต่ความจริงแล้ว ฮิปโปกินพืชน้ำอย่างผักตบชวาเพียงเล็กน้อย ในธรรมชาติพวกมันส่วนใหญ่จะกินหญ้าและพืชบกเป็นอาหารหลักต่างหาก นั่นหมายความว่าการนำเข้าฮิปโปมาเพื่อลดปริมาณผักตบชวาอาจไม่เกิดผลตามที่คาดหวัง
โดนให้คะแนนลบ ด้านผลกระทบทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม
มีการโต้แย่งว่าการนำเข้าฮิปโปอาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและเศรษฐกิจในระยะยาว เนื่องจากการนำเข้าสัตว์ต่างถิ่นอาจก่อให้เกิดปัญหาการรุกรานทางชีวภาพ นอกจากนี้ การเลี้ยงฮิปโปยังต้องใช้พื้นที่จำนวนมากและอาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่เกษตรกรรมอื่น ๆ ของประเทศ
แม้ว่าร่างกฎหมาย “ฮิปโปบิลล์” จะไม่ผ่านการพิจารณาของสภาคองเกรส แต่เรื่องราวนี้ยังคงเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจของวิธีการแก้ปัญหาแปลกใหม่กึ่งประหลาดที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา
ปัดตก
ร่างกฎหมาย H.R. 23261 หรือ “American Hippo Bill” ที่เสนอในปี 1910 มีเป้าหมายเพื่อให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณประมาณ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือเทียบเท่าในปัจจุบัน) เพื่อการนำฮิปโปจากแอฟริกามาใช้ในฟาร์มและการผลิตในสหรัฐฯ โดยมีวัตถุประสงค์ในการใช้ฮิปโปในการผลิตเนื้อและควบคุมจำนวนพืชน้ำในบางพื้นที่ แต่ในที่สุดกฎหมายนี้ไม่เคยผ่านการอนุมัติและกลายเป็นเรื่องที่น่าสนใจในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ
แม้ว่าแนวคิดในการนำเข้าฮิปโปโปเตมัสจะดูแปลกในสายตาของคนปัจจุบัน แต่ในบริบทของเวลานั้น การคิดค้นวิธีการใหม่ ๆ เพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่ได้รับการสนับสนุนอย่างมาก มันเลยเป็นสาเหตุของอะไรหลายๆอย่าง ตามที่เคยเล่าไว้ใน #บอกเล่า90บวก1 ครับ
สิ่งที่เกิดขึ้นในครั้งนี้คือจุดเริ่มต้นของเกษตรกรรมเชิงอุตสาหกรรม แทนที่จะนำสัตว์ชนิดใหม่เข้ามาเพื่อใช้ประโยชน์จากภูมิประเทศที่ดูเหมือนจะไม่อุดมสมบูรณ์ เราเพียงแค่ดัดแปลงภูมิประเทศเหล่านั้นให้เป็นทุ่งหญ้ามากขึ้น และเราก็บรรจุสัตว์ประเภทเดียวกันเข้าไปในดินแดนใหม่นั้นมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นคือ feed lots and confinement operations ครับ เป็นแนวปฏิบัติในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์เพื่อการผลิตเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะในระบบการผลิตขนาดใหญ่ในตอนนั้น
Feedlots: คือสถานที่เลี้ยงสัตว์ เช่น วัว หรือหมู ในพื้นที่จำกัด โดยสัตว์จะถูกเลี้ยงในลานที่จัดไว้ให้พวกมันอยู่รวมกันเพื่อการขุนอาหารสูตรเข้มข้น โดยมักเป็นอาหารผสมที่มีส่วนผสมของธัญพืช โปรตีน และสารเสริมอื่น ๆ เป้าหมายของ feedlots คือการเพิ่มน้ำหนักตัวของสัตว์ให้เร็วขึ้นเพื่อให้พร้อมสำหรับการแปรรูปเป็นเนื้อสัตว์ ซึ่งช่วยให้การผลิตเนื้อสัตว์มีประสิทธิภาพมากขึ้น
Confinement operations: หมายถึงการเลี้ยงสัตว์ในสภาพที่ถูกจำกัดพื้นที่มาก สัตว์จะไม่สามารถเคลื่อนที่หรือหากินในพื้นที่ธรรมชาติได้เอง ซึ่งการเลี้ยงแบบนี้อาจมีอยู่ในหลายรูปแบบ เช่น การเลี้ยงหมูในโรงเรือน หรือการเลี้ยงไก่ในกรง สัตว์จะได้รับอาหาร น้ำ และการดูแลอย่างเข้มงวดในสภาพแวดล้อมที่ถูกควบคุมเพื่อเพิ่มผลผลิตอย่างต่อเนื่อง