fbpx

Logical Fallacies 2 : Ad Hominem 

ทิ้งช่วงจาก ep1 มาเกือบปี ฮาๆๆ ไม่ใช่อะไรครับ คิดว่าถ้าปล่อยต่อเนื่องเดี๋ยวจะหาว่าโจมตีกูรูในระดับ rain fire แบบที่ธานอสปูพรมยิงเสียเปล่าๆ

เข้าเรื่องเลยดีกว่าครับ สำหรับตรรกะวิบัติที่เราจะคุยกันใน ep นี้เราจะมาว่ากันด้วยเรื่อง ตัวที่เรียกว่า

Ad Hominem หรือ การโจมตีที่ตัวบุคคล

ทบทวนภาษาละตินกันนะครับ Ad Hominem มาจากคำว่า Ad ซึ่งแปลว่า “ไปยัง” กับคำว่า Hominem ซึ่งแปลว่า “มนุษย์” รวมแล้วหมายถึง “against the person” หรือ “personal attack” หรือ การโจมตีที่ตัวบุคคลนั่นเอง 

ตรรกะวิบัติข้อนี้เป็นการมุ่งโจมตีที่ตัวบุคคลเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ยอมตอบข้อโต้แย้งหลัก อาจจะด้วยที่ว่าปกป้องความไม่มีเหตุผลของตนเองหรือเหตุใดก็ตาม นี่ เป็นการมุ่งเอาชนะการโต้แย้ง โดยแทนที่จะใช้เหตุผล แต่กลับใช้การเสียดสีคุณลักษณะของฝ่ายตรงข้ามแทน ไม่ว่าจะด้วยการประชด แดกดัน เสียดสี เพียงเพื่อหยุดยั้งไม่ให้อีกฝ่ายสามารถนำเหตุผลมาอ้างอิงได้ โดยการโจมตีบุคคลดังกล่าวก็ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับประเด็นของการโต้แย้ง ดังนั้น เราจึงจัดการกระทำนี้เป็นตรรกะวิบัติ ประเภทหนึ่ง เพราะเป็นการสนทนาที่เหตุและผลไม่มีความสัมพันธ์กัน โดยละเลยในเนื้อหา ในประเด็นที่พูดคุยกันโดยสิ้นเชิง

Ad Hominem เป็นการโจมตีตัวบุคคลในรูปแบบต่างๆ เช่น นิสัย บุคลิก หน้าตา อายุ สัญชาติ ครอบครัว สถานะทางการเงิน พฤติกรรม การกระทำ ความคิดมุมมอง รวมไปถึงสิ่งทีทำอยู่เป็นประจำ เพื่อให้เกิดความอาย ขาดความน่าเชื่อถือ หวังให้คนไม่ยอมรับในคำกล่าวหรือขอเสนอของคนนั้นๆ 

เขียนเป็นสมการได้ว่า 

นาย B พูดเนื้อหา XXXX แล้วนาย C มาโจมตีที่ตัวนาย B แทนที่จะเอาเหตุผลมาหักล้าง

จากนั้นก็สรปว่า เนื้อหาที่นาย B ผิดเพราะอะไร

เรามายกตัวอย่างง่ายๆกันนะครับ รับรองว่าในสังคมคีโตเราจะได้เจอ Ad Hominem บ่อยมาก เช่น

ตัวอย่างที่ 1 : 

นาย B พูดว่า “พืชไม่ใช่สิ่งที่เรียกได้ว่า จำเป็นต้องกินแบบขาดไม่ได้เด็ดขาด เพราะสารอาหารแร่ธาตุวิตามิน มีครบถ้วนในอาหารที่เป็น animal base โดยเฉพาะไข่และตับ”
นาย C กลับโต้แย้งมาว่า “สาวก CD ไง พูดยังไงก็มีแต่ความไม่ดีของพืช”

วิเคราะห์ : นาย C ไม่ได้ให้เหตุผลถึงความจำเป็นของพืช หรือ แสดงให้เห็นว่า การกืนแต่สัตว์ แม้แต่จะกินไข่และตับมากนั้นจะทำให้ขาดสารอาหารอะไรที่หาได้ในพืชบ้าง เพื่อโต้แย้ง context ที่ว่า พืชไม่ถึงกับจำเป็นต้องกินแบบขาดไม่ได้ แต่โจมตีที่ตัวผู้พูดว่า เป็นสาวก CD

ตัวอย่างที่ 2 : 

นาย B พูดว่า “เทมเป้ คีโตกินได้ คาร์บพอๆกับอัลมอนด์ที่คนคีโตกิน ผ่านการหมักแล้วเกิดประโยชน์มากมาย”
นาย C กลับโต้แย้งมาว่า “เทมเป้ไม่คีโต คนที่บอกเทมเป้กินได้ ก็เพราะตัวเองชอบและอยากกินแล้วหาข้ออ้างชวนคนอื่นกิน”

วิเคราะห์ : นาย C ไม่ได้ให้เหตุผลเลยว่า ชวนกินเทมเป้แล้วมันยังไง? รู้ได้อย่างไรว่าเขาอยากกินเทมเป้ เขาอาจะไม่ได้ชอบแต่เห็นว่ามีประโยชน์ก็ได้ หรือ เขาจะชอบจริงแต่มันก็มีประโยชน์และคาร์บอยู่ในระดับคีโตกินได้ ก็ได้อีกเช่นกัน นาย C ไม่ได้ให้เหตุผลหักล้างที่มีตรรกะเพียงพอเลย ว่าทำไมเทมเป้ไม่คีโต แต่กลับเลือกวิธีโจมตีที่บุคคล ว่า ชอบกินเลยชวนคนอื่น ซึ่งถือว่าเป็นตรรกะวิบัติ 

ตัวอย่างที่ 3 : 

นาย B ได้นำเสนอเนือหาวิชาการ มุมมองต่อวัตถุดิบคีโต ที่ให้สารอาหารที่ดี วิตามินครบถ้วน แม้จะมีคาร์บบ้างนิดหน่อย แต่หากเทียบกับวัตถุดิบติดป้าย คีโต บางอย่างแล้ว มีสารอาหารที่ดีกว่าและธรรมชาติกว่ามาก
นาย C กลับโต้แย้งมาว่า “เราจะไปเชื่ออะไรกับคนกินคีโตมั่ว คีโตเถื่อน ”

วิเคราะห์ : แทนที่นาย C จะโต้ตอบด้วยเหตุผลว่า สิ่งที่นาย B พูดนั้น มีสารอาหารที่ไม่ดี วิตามินไม่ครบถ้วน ตามที่กล่าวอ้างหรือไม่ แล้ววัตถุดิบติดป้ายคีโต มีสารอาหารที่ดีกว่าอย่างไร เป็นธรรมชาติกว่าตรงไหน กลับบอกว่า นาย B เป็นคีโตมั่วคีโตเถื่อน แถมยังไม่แจงให้คนฟังได้รับทราบด้วยว่า คีโตมั่วที่ว่านั้น มั่วอย่างไร ใช้บรรทัดฐานอย่างไรจึงเรียกว่ามั่ว ตัวอย่างนี้เป็น ตรรกะวิบัติทับซ้อนกัน 2 ชั้น จะเรียกว่า โคตรวิบัติ ก็ไม่ผิดนัก 

ตัวอย่างที่ 4 : 

นาย B นำเสนอวิธีการดูคาร์บให้กับคนคีโต เพื่อพิจารณาว่า ทำไมคีโตจึงกินนมได้ ไม่ต่างกับกินวิปครีม โดยให้เหตุผลว่า นมมีคาร์บ5กรัม/นม100กรัม ในขณะที่ วิปมีคาร์บ3.1กรัม/วิป100กรัม ซึ่งความต่างเพียง 1.9 กรัมคาร์บนั้น เล็กน้อยระดับที่ว่า ถ้าเทียบคนกินนม100กรัม กับคนกินวิป100กรัมแล้วกินขนมคีโตด้วย ในมื้อนั้น คนกินนมจะได้รับคาร์บน้อยกว่าคนกินวิปเสียอีก


นาย C กลับโต้แย้งมาว่า “เอาแต่ชวนคนกินของไม่คีโตไง คีโตมันเลยมั่วไปหมดแบบนี้”

วิเคราะห์ : นาย C โจมตีตัวบุคคล เบี่ยงเบนไประดับป้ายสี โดยโจมตีว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้คีโตมั่ว ทั้งที่คำกล่าวของ นาย B มาพร้อมเหตุผลสนับสนุนในทุกๆการยกตัวอย่าง มีการเปรียบเทียบในเชิงสมการ มีการเปรียบเทียบในเชิงปริมาณและในเชิงสถานการณ์ตัวอย่าง เพื่อให้ผู้ฟังมองเห็นในมิติเดียวกัน ระหว่างของ 2 สิ่ง ในขณะที่นาย C โต้แย้งกลับด้วย เพียงแค่ความคิดและมุมมอง เพื่อให้ร้ายที่ตัวบุคคล แทนที่จะโต้แย้งใน context หรือ บริบท ที่นาย B นำมากล่าวอ้าง 

ตัวอย่างที่ 5 : 

นาย B นำเสนอโพสและ info graphic มีเนื้อหาเพื่อให้เห็นว่า ในธรรมชาตินั้น ไข่ มีคาร์บ โดยสากลค่าเฉลี่ยคือ 1.1กรัมคาร์บ/ไข่100กรัม หรือถ้าจะเทียบเป็นฟองคือราวๆ 0.6กรัมคาร์บ/ไข่1ฟอง โดยเป็นค่า depend on ว่าไข่ฟองใหญ่ไม่เท่ากัน

สังคมคีโตซึ่งเป็นสังคมที่ต้องการความจริงใจในฉลากโภชนาการ ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นคาร์บจำนวนเท่าไร น่ากลัวหรือไม่น่ากลัว ผู้ผลิตขนมคีโต โดยเฉพาะผู้ที่มีความรู้ในการกินคีโตมาก ยิ่งสมควรที่จะใส่ตัวเลขคาร์บในฉลากของตนเอง อย่างเป็นจริง แล้วให้เป็นหน้าที่ของลูกค้าที่จะดูปริมาณจากฉลากแล้วตัดสินใจเองว่า จะกลัวคาร์บจากไข่หรือไม่ มิใช่เป็นหน้าที่ของผู้ผลิต ที่จะปัดเศษลงเป็น 0 แล้วบอกว่า ถ้าจะกลัวคาร์บจากไข่ ให้ไปกลัวคาร์บจากผลไม้ดีกว่า 

มิเช่นนั้น ผู้ผลิตขนมคีโต ก็จะไม่ต่างกับอาหารอุตสาหกรรมในร้านสะดวกซื้อ ที่จะคอยปัดเศษศรีธนญชัย ที่ว่าอะไรที่ปริมาณต่ำกว่า 1กรัม สามารถปัดเป็น 0 ได้โดยชอบตามกฎหมาย เรายังโดนอุตสาหกรรมอาหาร หมกเม็ดข้อมูล ให้ช้ำระกำใจไม่พอ นี่ยังต้องมาโดนคนคีโตด้วยกันเอง กระทำเช่นเดียวกันอีกหรือ ? เราควรถามหา moral จากผู้ผลิตหรือไม่

 นาย C กลับโต้แย้งมาว่า คนหิวแสง อยากมีตัวตน เอาแต่โพสด่าคนอื่น ให้คนตามอ่านเพราะคนชอบดรามา พูดอะไรไม่จริงก็มีคนเชื่อ  

วิเคราะห์ : นาย C แทนที่จะนำเสนอ เหตุผลของการใส่สารอาหาร ไม่ตรงกับความเป็นจริง เพื่อให้ผู้ฟังได้วิเคราะห์ถึงความสมเหตุสมผล แต่นาย C กลับโจมตีที่ตัวบุคคล เพื่อเบี่ยงเบนประเด็นไม่โต้แย้งในสิ่งที่นาย B กล่าวอ้าง  ทำให้คนฟังไม่ได้รับความรู้และความมีเหตุผล ตามที่ควรเป็นไปในตรรกะที่เหมาะที่ควร 

วิธีแก้

สำหรับ Ad Hominem นั้นแก้ได้ง่ายครับ แต่คนส่วนมากจะทำไม่ได้เนื่องจากไม่ได้ฝึกฝนให้มีระบบคิด ที่มีเหตุและผล จึงทำให้การสนทนา โต้แย้ง ไม่ได้อยู่บนหลักของเหตุและผล 

วิธีแก้นั้นเพียงแค่สนทนาอยู่ในประเด็น หากต้องการโต้แย้ง ก็นำสิ่งกล้าวอ้างที่ต้องการจะแย้ง มาให้เหตุและผลโต้กลับที่ฟังขึ้นแบบชัดเจน ซึ่งหากไม่สามารถหาเหตุและผลมาโต้แย้งได้ ก็ต้องยอมรับว่า คำกล่าวอ้างนั้นๆเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ และหากคำกล่าวอ้างนั้น เป็นการโต้แย้งตัวเราเอง โดยบุคคลอื่น เราก็ควรยอมรับในการโต้แย้งนั้นว่า คำกล่าวของเรานั้นมีข้อผิดพลาดที่สมควรแก้ไข 

สรุป

การที่เราได้เรียนรู้ถึงตรรกะวิบัติ Ad Hominem นั้นทำให้เรารู้เท่ารู้ทัน กูรู ว่ามีการสอน การให้เหตุผล สมกับที่ควรแก่การเชื่อถือหรือไม่ นอกจากนี้ แม้แต่ตัวเราเอง มีสถานการณ์ไหนบ้างที่ตกไปอยู่ในตรรกะวิบัติข้อนี้ เมื่อเรารู้คำนิยามและลักษณะของมันแล้ว ก้จะทำให้เรารู้พิจารณา รู้การดำเนินชีวิต ไม่ให้อยู่บนพื้นฐานของ ตรรกะวิบัติได้อย่างมีสติ 

 

โต้งเอง บุคคลที่พยายามเล่าเรื่องที่คนไม่รู้เรื่อง ให้รู้เรื่อง แม้บางทีคนที่อยากให้รู้เรื่อง จะอ่าน/ฟังแล้วไม่รู้เรื่องก็ตาม