สตอรี่ ชีสเค้ก (Story Cheesecake) : ep3 เข้าเรื่องชีสเค้กซะที อีพีนี้หล่ะว๊า
จากที่เล่าให้ฟังแล้วว่าปี 2017 นั้นเป็นปีที่พุ่งพรวดในการทดลองสูตรอาหาร ขนม คีโตมากๆ
แต่ในชีวิตคู่ขนานก็ยังต้องทำขนมปกติอยู่เสมอๆ โดยเฉพาะเทศกาลต่างๆ ของที่บ้านซึ่งมีเชื้อสายจีน(ไม่ต้องบอกเห็นตาก็รู้นะ) ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจเลยว่า อีกแรงผลักดันหนึ่งในการคิดค้นก็เพราะการที่ต้องนั่งทำขนมปกติในขณะที่กินคีโตนี่แหละ ทำได้แต่กินไม่ได้มันก็อัดอั้นสินะ ไม่วาจะขนมเปี๊ยะ ซาลาเปา ปอเปี๊ยะ ขนมเข่ง ขนมเทียน บัตเตอร์เค้ก ขนมปัง
จนมาคืนหนึ่งหลังจากที่ล้างครัวหลังทำซาลาเปา ขนมเทียน ไหว้เจ้าเสร็จ ก็ยังค้างเติ่งความอยากขนมอยู่ในใจ หันไปเห็นไข่ที่เพิ่งมาส่งเมื่อเช้าจากฟาร์มประจำที่ซื้อกันมานาน นึกถึงขนมตัวนึงที่ไม่ได้ทำอีกเลยตั้งแต่หันมากินคีโต ทั้งที่เป็น ซิกเนเจอร์ประจำตัว ตั้งแต่สมัยดูแลร้านเบเกอรี่แห่งหนึ่ง และเป็นตัวขายดีของร้าน ด้วยความเด้ง ดึ๋ง ดั๋ง เนื้อละเอียดนุ่มละมุน
จังหวะพอดีกับในกลุ่มออนไลน์เริ่มมีคนเรียกร้องหาวิธีการทำขนมมากขึ้นเพราะอยากกินหาซื้อไม่ได้ต้องทำกินเองเพราะประเทศไทยยังรู้จักคีโตน้อยมาก คิดอยู่นานว่าจะลองทำดีไหมเพราะตอนนั่งคิดก็ค่ำแล้ว เวลาในการทำถ้านับตั้งแต่ต้นจนจบก็ร่วม 4 ชั่วโมง แต่ก็นะกว่าจะรู้ตัวก็ตีครีมชีสแล้ว
ระหว่างตีครีมไปก็คิดไปว่าโครงสร้างหลักที่เดิมชีสเค้กใช้คือแป้งและน้ำตาล จะทำอย่างไรถึงจะทดแทนกันได้ ถ้าใช้แป้งอัลมอนด์เค้กต้องไม่ขึ้นแน่นอน เพราะธรรมชาติแป้งถั่วจะหนัก เรียกว่าแป้งก็จริงแต่มันคือถั่วบดละเอียดมากๆจนดูเป็นแป้ง ดังนั้นการนำมาใช้ในชีสเค้กคงไม่เหมาะและสูญเสียความเป็นชีสเค้กที่่เบานุ่มไป
ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่าสูตรแรกนี้ สวยงาม ฟีบแฟบเยี่ยงแพนเค้กดีๆนี่เอง เป็น 4 ชั่วโมงแรกที่คุ้มค่ามากกกก เพราะทำให้รู้ว่าสิ่งที่หายไปต้องมีอะไรมาทดแทน ผลงานชิ้นแรกนี้ไม่มีใครได้เห็นมันเพราะถูกจัดการลงกระเพาะอาหารคนทำไปตั้งแต่ยังไม่ต้องเซ็ทตัว
หลังจากนั้นการค้นคว้าเพื่อแก้ไขให้ดีขึ้นก็เริ่มต้น กลับไปจุดตั้งต้นใหม่จาก ศูนย์ เอาวัตถุดิบมากาง เอาอุณหภูมิมากาง ค่อยๆทำ check list ทีละอย่างไปเรื่อยๆ ด้วยความที่ช่วงนั้นมีธุระที่ต้องทำที่ต่างจังหวัด การพัฒนาสูตรจึงเป็นเรื่องที่ใช้เวลามากกว่าเดิมหลายเท่า และหลายๆอย่างต้องเข้ามาเลือกวัตถุดิบที่กรุงเทพ
เฉพาะที่ขีดๆเขียนๆลงในกระดาษเพื่อรอการทดลองอบนั้น สิ่งที่ไม่มีใครรู้ก็คือ แค่เบื้องต้นนั้นแบ่งวัตถุดิบออกมาเป็นความเป็นไปได้ร่วม 20กว่าสูตร โดยที่ยังไม่รู้ว่าสูตรไหนจะได้ไปต่อ นั่นหมายถึง อย่างน้อยๆต้องใช้เวลา 80 กว่าชั่วโมง ในการค้นหาคำตอบ
ถ้าจะแค่ทำชีสเค้กให้พ้นๆหน้าไปถ่ายรูปโชว์ก็คงจะเร็วกว่านั้น แต่ถ้าจะเป็นชีสเค้กในแบบที่เอ๋เคยทำขายมาก่อน คงต้องมากกว่านั้นเพราะกลัวคนจะว่าเอาได้ เนื่องจากไปคิดถึงขนาดว่าจะแจกจ่ายวิธีทำให้ทุกคนได้ทำทานกันที่บ้านได้ด้วย เพราะเมืองไทย ตอนนั้นไม่มีที่ไหนขายขนมคีโต อย่าว่าแต่ขายเลย คีโต กับ คีโม คนทั่วไปยังฟังว่าเป็นอย่างเดียวกันเลย เรื่องอื่นไม่ต้องสืบ ฮาๆๆ
ตอนหน้ามาต่อกันถึงขั้นตอนการทดลองสูตร เล่าให้ฟังเบื้องหลังที่กว่าจะลงตัว คำว่าง่ายๆเปลี่ยนแป้งสาลีเป็นแป้งอัลมอนด์ ง่ายๆดูจากหนังสือเบเกอรี่เมืองนอกแล้วปรับๆเอา มันช่างห่างไกลกับที่เราทำเหลือเกิน เราคงไม่เก่งกาจเทียบเท่าคนเก่งๆเหล่านั้น เราเลยต้องก้มหน้าก้มตาลองผิดไปหลายปอนด์
แต่ก็ภูมิใจ ที่การทำเบเกอรี่ของเรานั้นเริ่มต้นด้วยความตั้งใจ ความใส่ใจ ความทุ่มเทให้ออกมาได้ดี ไม่ได้ทำแบบเล่นๆยามว่าง เบื่อก็เลิก หรือแค่กะจะเข้ามาทำแก้เหงา และเราถือเสมอว่าการทำของให้คนรับประทาน ต้องทุ่มสุดใจ เป็นความรับผิดชอบต่อความสุนทรีย์ เป็นศิลปะการประกอบอาหาร แขนงหนึ่ง ซึ่งเราให้ความเคารพอาชีพ ให้เกียรติลูกค้าผู้บริโภค ถ้าเรายึดมั่นทุกการกระทำด้วยความตั้งใจ ไม่ว่าจะทำอะไร ลูกค้าก็จะได้สิ่งที่ดีที่สุดเสมอ เรารักสิ่งที่เราทำ เรารักคนที่ทานเค้กเสมือนญาติมิตร
แม้จะทำให้เหนื่อยมากกว่า แต่การจดจำรอยยิ้ม คำขอบคุณที่ส่งขนมหรืออาหาร ที่ถูกปากถูกใจ มีแรงสู้ต่อไปบนโลกใบนี้ มันทำให้เรายอมแลกเวลาชีวิตกับสิ่งนี้ การทำอะไรให้คนที่เรารักมันก็เป็นเช่นนี้แล
สูตรที่ตั้งใจสร้าง สูตรที่เต็มใจให้ ถ้าใครที่นำไปทำแล้วใส่ความรักความตั้งใจเข้าไปด้วย แม้จะได้รสชาติเค้กที่ต่างกัน แต่โลกใบนี้ก็จะเกิดความรักเพิ่มขึ้นในรูปแบบเดียวกัน ไม่มากก็น้อย ดีกว่าเก็บสูตรไว้ที่ตัวเองตั้งเยอะ