fbpx

เนย…ไหนยังไงนะ ตอน2 เนยไม่แท้ และ ความเชื่อ?

ประเภทของเนย 

ในตอนที่แล้วเราทำความเข้าใจของเนยแท้ วัตถุดิบ และวิธีการทำเนย เพื่อให้เห็นภาพรวมของกระบวนการไปแล้ว อ่านได้ที่นี่

สำหรับตอนนี้เราจะมาทำความเข้าใจฉลากเนยเพิ่มอีกเล็กน้อยนะครับ ตัวแรกเลยที่คุณอาจจะเห็นก็คือ

สัญลักษณ์ AOP 

AOP ย่อมาจากAppellation d’Origine Protégée in French (Protected Designation of Origin) ซึ่ง AOP  นั้นจะบ่งบอกว่า เป็นเนยคุณภาพดีเยี่ยมจากฝรั่งเศส เป็นตราสัญลักษณ์ที่การันตีว่า เป็นเนยบ่ม (Culture Butter) ที่ผลิตจากแหล่งผลิตเฉพาะ และใช้วิธีการผลิตเฉพาะเช่นกัน โดยมากแล้วมักเป็นการผลิตแบบดั้งเดิม แต่ที่แน่ๆคือ เนย AOP นั้นจะต้องมาจาก 3 แหล่งผลิตนี้เท่านั้น นั่นคือ

1. AOP Charente-Poitou 

2. AOP Isigny   

3. AOP Bresse  

ตัวต่อมาจะเห็นได้บ่อยๆในเนยฝรังเศสเช่นกัน นั่นคือคำว่า 

Beurre de Baratte

คำนี้จะหมายถึงเนยบ่ม  (Culture Butter) และเป็นการผลิตด้วยวิธีถังปั่นแบบดั้งเดิม ใช้เวลามากเพราะปั่นแบบช้าๆ วิธีนี้จะได้เนยที่มีความนุ่ม รสกลิ่นดี และแน่นอนว่า ราคาก็ดีตามมาด้วยเช่นกัน เพราะรายละเอียดในการผลิตสูงทุกขั้นตอน

Extra fin

ฉลากที่มีคำนี้จะบอกว่า ทำจากครีมที่ไม่ได้ผ่านการแช่แข็งมาก่อน ส่วนมากแล้วจะเป็นเนยที่ผลิตจากโรงงานที่ตั้งอยู่ใกล้กับฟาร์มนม เพราะต้องนำนมจากฟาร์มมาผลิตเนยในทันที 

Extra Dry

คำนี้น่าจะคุ้นเคยกันดี เป็นเนยที่มีไขมันสูงมาก อยู่ที่ประมาณ 84-96% ด้วยความที่ไขมันสูงดังนั้นความชื้นก็จะน้อยลงตามกันไป พอความชื้นมันน้อยมันก็เลยแห้งหรือ dry นั่นเองครับ รูปทรงของเนยแบบ dry ส่วนมากจะเป็นแผ่น ใครที่ทำครัวซองต์ จะคุ้นเคยเป็นอย่างดี

โอเค ทีนี้เราน่าจะเริ่มคุ้นเคยกับสัญลักษณ์ต่างๆของเนยแท้กันไปแล้ว เรามาสรุปแบบคร่าวๆกันอีกทีครับว่า เนยมีกี่ประเภทบ้าง

เนยแท้ butter

เป็นเนยที่มีสัดส่วนของ butter oil ไม่ต่ำกว่า 80% และไม่ผสมไขมันพืช (ที่เหลือไปอ่านตอนเก่าได้ครับ)

เนยผสม butter blend

เป็นเนยที่มีปริมาณไขมัน ไม่ต่ำกว่า 80% “แต่” ในส่วนของไขมันนั้นเป็นการผสมระหว่างไขมันนมและไขมันพืช และไขมันเนยต้องมากกว่า 3% อัตราส่วนนั้นก็ตามแต่ละสูตรแต่ละโรงงาน 

เนยเทียม (Margarine) มาร์การีน มาร์จารีน อะไรก็แล้วแต่

เป็นเนยที่ทำขึ้นเลียนแบบและใช้ทดแทนเนย อย.ระบุนิยามไว้ว่า ผลิตภัณฑ์อิมัลชันชนิดน้ำในน้ ามัน ซึ่งมีลักษณะคล้ายเนย โดยมีปริมาณไขมันทั้งหมด 80-90% ของน้ าหนัก และมีมันเนยไม่เกิน 3% ของปริมาณไขมันทั้งหมด

พูดง่ายๆก็คือไขมันพืช หรือบางเจ้าอาจเอาไขมันพืช+ไขมันเนย เอามาทำผ่านกระบวนการไฮโดรจิเนชั่น ทำให้ของเหลวเปลี่ยนสภาพเป็นของกึ่งแข็ง (ก็ก้อนๆนิ่มๆแบบเนยอ่ะ) อาจมีการแต่งสีเติมกลิ่นให้คล้ายเนยได้อีก เห็นได้บ่อยในร้านโรตี 

เนยขาว (Shortening)

เป็นเนยที่ทำจากไขมันพืช เอาจริงๆก็คล้ายกับมาร์การีน ต่างกันแค่ว่า เนยขาวจะเป็นไขมันล้วนๆ ไม่แต่งสีไม่แต่งกลิ่น ลักษณะก็เลยมีสีขาว อยู่ตัวได้ดีกว่ามาร์การีนเพราะมีจุดหลอมละลายที่สูงกว่า เรียกว่าเก็บในอุณหภูมิห้องปกติได้เลย และราคาถูกกว่ามาก ส่วนใหญ่นิยมใช้ผสมในวัตถุดิบเบเกอรี่ ตีครีม โดยจะเอาไปผสมกับเนยแท้อีกที หรือใช้ทอดแทนน้ำมัน 

เรื่องน่าสนใจเกี่ยวกับเนยเทียมเนยผสมนั้นยังมีอีกหลายเรื่องเลยครับ เฮียจะทะยอยรวบรวมมาส่วนนึงเล่าให้ฟัง วันนี้เล่าให้ฟังเรื่องนึง 

ไขมันทรานส์ในเนยขาว ในมาการ์รีน หรือแม้แต่ใน butter blend

เหมือนเดิมนะครับ เรานิยามคำว่าไขมันทรานส์กันก่อน 

‘ไขมันทรานส์’ หรือ ไขมันพืชเติมไฮโดรเจนบางส่วน (partially hydrogenated oil) เป็นไขมันที่ถูกผลิตขึ้นเพื่อประโยชน์ในอุตสาหกรรมอาหาร ช่วยให้อาหารมีอร่อย เก็บได้นาน และช่วยลดต้นทุนการผลิต

จึงมีกฎหมายประกาศจากสาธารณสุขออกมาว่า อาหารที่มีน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน เป็นอาหารที่ ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่ายใน 180 วัน นับจากวันที่ 11 ก.ค. 2561 หรือ 4ปีผ่านมาแล้วครับคุณ 

ถ้าเป็นยุคเก่าก่อนนั้นโอเคครับ กระบวนการไฮโดรจิเนชั่น (hydrogenation) ยังไม่พัฒนาได้ดีพอ ทำให้มีไขมันทรานส์ปริมาณมากในเนยประเภทนี้ 

“แต่”

โลกปัจจุบันนี้พัฒนาต่อไปอีก เพราะกฎหมายเรื่องไขมันทรานส์ก็ออกมาแล้ว ใครที่ขายแบบมีไขมันทรานส์นั้นคือผิดกฎหมาย ประกาศที่ออกมาไม่ใช่การรณรงค์ครับมันคือการบังคับใช้ มีความผิดครับ ในระบอุตสาหกรรมจึงมีการผลิตสินค้าด้วยวิธีอื่นขึ้นมาทดแทน

ที่ค้นๆมาก็จะมีการผลิตที่ใช้ระบบ Fully Hydrogenation บ้าง อินเทอร์เอสเทอริฟิเคชัน ซึ่งเป็น ปฏิกิริยาเคมีที่ใช้ดัดแปลงโครงสร้างของไตรกลีเซอไรด์ (Interesterification) บ้าง ที่ต่างเคลมว่าไม่ทำให้เกิดทรานส์ 

โดยเฉพาะวิธี Fully Hydrogenation ซึ่งถือว่าเป็นวิธีที่นิยมพอสมควร การ Fully Hydrogenation นั้นเป็นการเติมไฮโดรเจนแบบสมบูรณ์ทำให้กลายเป็นไขมันอิ่มตัวเต็มรูปแบบ และจะไม่กลับไปมีไขมันทรานส์อีก นอกจากนี้การกลั่นเพื่อ refine น้ำมันพืชนั้นใช้ความร้อนสูงมากเกิน 250องศาเซลเซียสมาแล้ว ดังนั้นความร้อนจากการประกอบอาหาร จึงไม่ส่งผลให้เกิดไขมันทรานส์อีกเช่นกัน 

ในท้องตลาดทุกวันนี้จึงได้เห็นเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่เป็น full hydrogenated fat หรือ ใช้เทคนิค oil blending กับน้ำมันปาล์ม นั่นแปลว่าเรายังคงมี มาการีน เนยขาว ครีมเทียม ใช้อยู่ แต่เป็นสูตรที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตแบบใหม่

ปริมาณไขมันทรานส์ที่เป็นขีดอันตรายตามมาตรฐาน อ.ย. โลก คือไม่เกิน 2 กรัมต่อวัน ทุกวันนี้ มาการีนแบบไม่มีไขมันทรานส์  จะมีปริมาณไขมันทรานส์เพียงไม่เกิน 0.5 กรัม ต่อ 1 หน่วยบริโภค 15 กรัมครับ  (แบบดั้งเดิมจะมีถึงราวๆ 5 – 7 กรัม) นี่ยังไม่รวมบางยี่ห้อ ที่กดทรานส์ลงไปถึง 0กรัม เลยนะครับ

ดังนั้น เราอาจต้องทบทวนองค์ความรู้กันอีกทีว่า ที่เราท่องๆกันมาว่า มาการีนหรือแม้แต่น้ำมันพืช มีไขมันทรานส์นั้น มันยังใช้ได้อยู่ไหมในทุกวันนี้ 

หรือถึงเวลาที่เราอาจจะต้องปัดตกเหตุผลเรื่อง ไขมันทรานส์ ออกไปก่อน??

บางทีเราอาจต้องตั้งคำถามใหม่แล้วไหม ว่าตกลงแล้ว เราไม่โอเคกับมาการีน, butter blend ในมิติไหนอีกบ้าง อาจจะต้องลอง List มาเป็นข้อๆ เพราะเรื่องทรานส์คงต้องตัดออกไปแล้ว 

ถ้าที่นึกออกตอนนี้ก็ รสชาติความจรรโลงใจครับ ฮาๆๆ ไม่ใช่เนยแท้นี่ไม่ฟิน นี่นา

คำถามเกิดที่ว่า แล้วมันจะมีข้อด้อยอะไรอีก นอกจาก

– รสชาติที่ไม่ดีเท่าเนยแท้

– การอ๊อกซิเดชั่น

– การที่มันอาจจะมีโอเมก้า6สูง

ข้อแรกคงจบไป เรื่องรสชาติคือรสนิยม

ถ้าจะบอกว่าน้ำมันพืช ultra processed food อันนี้เข้าใจได้ซึ่งมันก็จริงแต่ยังกว้างไปรึเปล่าอีก กลายเป็นเหมารวมอีกไหม 

สมติ ลงย่อยไปอีก กรณีน้ำมันพืช processed เราควรระวังอะไรในนั้น เบื้องต้นก่อนก็คงจะ โอเมก้า6 เป็นเรื่องหลักของการอักเสบ โอเค เข้าใจได้เลย ร่างกายอักเสบคงไม่ดี หรือ อ๊อกซิเดชั่น ของน้ำมันพืช ก็ว่ากันไป อย่างน้ำมันปาล์มมันก็ทนความร้อนได้สูงเป็นพิเศษอยู่แล้ว อ้าว ทีนีเหลืออะไรอีกหล่ะ เรายังเหลือข้อไหนกันอีกไหม มันต้องมีมากกว่านั้นสิเน๊อะ  ลองคิดกันต่อไป

เบื้องต้นที่ต้องทำความเข้าใจก่อนก็คือ ทุกน้ำมันถ้าโดนความร้อนวิตามินมันก็ไปหมดแล้ว ดังนั้นมันไม่ได้มีน้ำมันอะไรที่ “ดี” ต่อสุขภาพอยู่แล้ว ถ้ามันเอามาประกอบอาหารด้วยความร้อน มันจะมีแต่น้ำมันที่ “ไม่เลว” ต่อสุขภาพ ที่เราเลือกมาใช้

แล้วถ้า butter blend ที่ไม่ได้ใช้น้ำมันที่มีโอเมก้า6สูงหล่ะ ลองดูรูปนี้ครับ

ถ้าน้ำมันที่ใช้ มันเกิดเป็นน้ำมันมะพร้าวหล่ะ อย่างที่ผมยกตัวอย่างในเม้นบน แล้วยิ่งถ้าตัวนี้หล่ะ น้ำมันเม็ดปาล์ม mct เราจะเหลืออะไรให้ว่ากล่าวได้อีก น่าสนใจนะครับ เพราะมันเป็นน้ำมันที่ปกติคีโตเราเอามาทำอาหารทั้งนั้นเลย

เรายังเหลืออะไรไว้กล่าวโทษ Butter Blend ได้อีกบ้าง??

คือไม่ได้จะบอกว่า เนยเทียม เนยผสม ดีหรือไม่ดียังไงนะครับ

แค่ต้องการกลับมาตั้งสติ ตั้งคำถามว่า ถ้าจะบอกว่ามันไม่ดี มันไม่ดีที่อะไรบ้าง ที่เคยท่องๆกันว่าสาเหตุเป็นเพราะไขมันทรานส์ มันยังเป็นจริงอยู่ไหม หรือมัน out ไปแล้วกับเหตุผลนี้ บางทีเราก็อยากได้ข้อมูลสุขภาพที่ก้าวไปพร้อมกับเทคโนโลยีอุตสาหกรรมอาหาร 

ก็ยังเป็นเรื่องที่ต้องคิดต่อไปอยู่นะครับ บทความปลายเปิดไว้เผื่อว่าจะมีใครช่วยบริจาคข้อมูลเพิ่มเติมให้ครับ เพราะถ้ายังหาคำตอบไม่ได้ เนยผสม ก็ยังไม่ได้เป็นฆาตกร อย่าที่กล่าวหากัน รึเปล่า????? น่าคิดนะครับ

ไม่ได้ให้เชื่อนะ #ไม่ได้เรียนมา แค่ขี้สงสัย พอหาอะไรเจอมาก็เอามาแบ่งปันร่วมวิเคราะห์ ใครเจออะไรดีๆเอามาแลกเปลี่ยนกันได้นะครับ ทุกคนจะได้ประโยชน์ร่วมกันตามสังคมอุดมความรู้ครับ ไม่มีใครรู้ไปทุกเรื่องหรอกนาย ไม่มีใครโง่นะมีแค่รู้กับไม่รู้ รู้มาก็เล่าไม่รู้ก็ฟัง 

จริงๆมีเนยอีกประเภทนึง เดี๋ยวจะขอยกไว้เป็นหัวข้อต่างหาก เป็นอะไรติดตามต่อไปครับ

โต้งเอง บุคคลที่พยายามเล่าเรื่องที่คนไม่รู้เรื่อง ให้รู้เรื่อง แม้บางทีคนที่อยากให้รู้เรื่อง จะอ่าน/ฟังแล้วไม่รู้เรื่องก็ตาม